ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แน่นอนว่า “สมุนไพร” เป็นสิ่งคุ้นชินในชีวิตประจำวัน สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามห้างร้าน ท้องตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ หากแต่สมุนไพรที่หลายคนคุ้นเคยนั้น ใช่ว่าเป็นของธรรมดาสามัญทั่วไป

น้อยนักที่จะรู้ ผลการศึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากที่สุดในประเทศไทย โดยนักวิจัยระดับโลก พบว่า“สมุนไพร” มีคุณสมบัติเหมาะสมมาเป็นอันดับที่ 1

นำมาสู่การวางนโยบายเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (เมดิคัล ฮับ) ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ให้สมุนไพรเป็นพระเอก โดยให้น้ำหนักกับการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ “ยาสมุนไพร” ให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ และมีบทบาทในตลาดโลก แต่ความหวังที่จะให้สมุนไพรไทยเป็นพระเอก คงจะไปไม่ถึงฝัน เพราะทุกวันนี้ยังติดขัดที่กฎระเบียบที่ยื้อและดึงสมุนไพรไม่ให้สามารถไปแข่งขันในเวทีโลกได้ หรือแม้กระทั่งไม่สามารถแข่งขันได้กับอาหารเสริมที่มีตลาดมูลค่ามหาศาลในทุกวันนี้

สำนักข่าว Health Focus นัดหมาย วัชรพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ นายกสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร ฉายภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย-ปัญหาและอุปสรรคในการทำตลาด

“ประเทศไทยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอยู่ในหมวดหมู่ของยา เมื่อถูกนิยามให้เป็นยาจึงมีข้อจำกัดที่เข้มงวด เคร่งครัด และมีบทลงโทษที่รุนแรง จะส่งออกก็ต้องมีงานวิจัย งานวิชาการ เพื่อให้ผ่านมาตรฐานของประเทศปลายทาง ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่สามารถผลิตได้อย่างง่าย ทำตลาดได้ง่าย ผิดพลาดก็มีความผิดน้อย”

“ปัญหาคือเราเดินมาแบบนี้ยาวนานมากว่า 10 ปีแล้ว คือเมื่ออะไรถูกกำหนดให้เป็นยาไปแล้วจะไปเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแทบไม่ได้เลย ทางเดียวที่จะแก้ไขได้คือจนกว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่คิดจะแก้ไขกฎระเบียบตรงนี้ เพื่อปลดสมุนไพรออกจากหมวดหมู่การเป็นยา”

“ผู้ประกอบการยาสมุนไพรกำลังเล่นอยู่ในเกมของผู้แพ้ หรือ loser game นั่นคือทำอย่างไรก็ไม่มีทางชนะ เพราะกฎหมายแรง ขณะที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเล่นยังไงก็ชนะ เป็น winner game เสมอ โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินความเป็นจริงก็ถูกปรับเพียงเล็กน้อย นี่คือความแตกต่างทั้งที่ผลิตภัณฑ์ 2 ประเภทนี้ มาจาก natural base เหมือนๆ กัน”

“แต่ถ้าว่ากันตรงๆ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในหลายประเด็นมีความปลอดภัยน้อยกว่ายาแผนโบราณ เราจะเข้าใจกันว่าเมื่อเป็นยาจะเป็นสิ่งอันตรายที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม แต่สิ่งไหนเป็นอาหารจะรู้สึกว่าปลอดภัย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ยาแผนโบราณส่วนใหญ่มาจากสมุนไพร ซึ่งออกฤทธิ์ไม่รุนแรง แต่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายๆ ครั้ง หลายๆ อย่าง มีส่วนผสมของเคมี เช่น กลูต้าไธโอน ซึ่งความผิดพลาดจากการรับประทานมากกว่ายาแผนโบราณ แต่กลับถูกจัดหมวดหมู่ให้เป็นสิ่งที่ปลอดภัยกว่า”

วัชรพงษ์ ระบุว่า ประเด็นสำคัญคือ หากจะผลิตสมุนไพรเพื่อบุกตลาดทั้งในและนอกประเทศ จะต้องดึงสมุนไพรกลับมาเป็น“ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากสมุนไพร” โดยตัดกรอบของ “ยา” ออกไปให้หมด

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ยาแผนโบราณ พ.ศ.2522 ระบุไว้ว่า เป็นการผลิตที่สืบต่อกันมาตามภูมิปัญญาโดยไม่เป็นวิทยาศาสตร์ นายกสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร บอกว่า พอมีคำว่า “ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” เพียงคำเดียวทำให้พังทั้งระบบ ถามว่าใครจะยอมรับ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แทบทั้งสิ้น แต่พอเราจะพัฒนาอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ ก็ติด พ.ร.บ.ฉบับนี้อีก ไม่ใช่ยาแผนโบราณอีก

“ต้องเข้าใจก่อนว่าการมีกฎหมาย-กฎระเบียบ มีไว้เพื่ออะไร มันมีไว้เพื่อให้เกิดการราบรื่นในการพัฒนาได้ ถ้ามีไว้เพื่อเป็นกรอบในการจำกัดจนไม่สามารถเติบโตได้ก็คงไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่เจตนารมณ์ที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น ฉะนั้นต้องคิดอะไรนอกเหนือจากที่เขียนไว้”

“อย่างในอดีตยาแผนโบราณพยายามเรียกร้องเทคโนโลยี แต่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ไม่ให้ เพราะเมื่อคุณไม่ใช่วิทยาศาสตร์ คุณก็ต้องทำแบบดั้งเดิม แต่สมัยนี้ อย.ก็รู้แล้วว่ามันเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อย.ก็พัฒนาด้วยการให้ทำ GMP ถามว่า GMP เป็นวิทยาศาสตร์ไหม มันวิทยาศาสตร์ล้วนๆ”

“ก็ อย.เรียกร้องให้สมุนไพรคุณภาพดีขึ้น GMP ดีขึ้น ต้องวิเคราะห์โลหะหนักตกค้าง วิเคราะห์เชื้อโรค ทุกอย่างมันวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ดังนั้นก็ต้องปล่อยให้เราใช้วิทยาศาสตร์ แต่เทคโนโลยีการผลิตกลับไม่อนุญาต เช่น หากจำเป็นต้องใช้วิธีสกัด แต่สกัดแบบเดิมมันชื้น เพราะประเทศไทยมีความชื้นสัมพัทธ์สูงถึง 70% ถ้าสกัดอยู่ต่างประเทศ มันไม่เป็นอะไร เพราะความชื้นสัมพันธ์ต่ำเพียง 10%”

“แล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องเคลือบฟิล์มเพื่อให้คนกินได้ แต่กฎหมายตอนนี้กลับบอกว่าไม่ให้เคลือบ แต่กลับเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเคลือบฟิล์มได้อย่างถูกต้อง มันเหมือนเราถูกผนึกเอาไว้”

วัชรพงษ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยกำลังหลงทางในทิศทางการพัฒนา เราประชุมกันมา 5 ปีที่ผ่านมา กรอบคิดที่เป็นอยู่คือ “ถ้าไม่ใช่สมุนไพรไทยจะไม่ส่งเสริม” ส่วนตัวก็เข้าใจแต่อยากให้ลองในมุมกลับบ้าง อย่าง 15 ปีที่แล้ว เราบอกกันว่าไม่ส่งเสริมเห็ดหลินจือ จะดีขนาดไหนก็ไม่ส่งเสริมเพราะเป็นของนำเข้าจากจีน คิดแบบนี้ไม่ถูก ในมุมกลับหากเห็ดหลินจือดีจริงเราควรคิดว่าจะเอามาปลูกได้ไหม เอามาสร้างมูลค่าได้ไหม ไม่อย่างนั้นต่อไปนี้ก็ไม่ควรนำเข้าโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องใช้กัน

“แล้วมาทุกวันนี้เห็ดหลินจือกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสายพันธุ์มา ถ้ายังคิดแบบเดิมคือไม่ต้องใช้สายพันธุ์นี้นะ แต่คิดในมุมกลับก็คือเราก็ส่งเสริมสิ เราต้องชี้ให้เห็นถึงข้อดี ให้เห็นถึงคุณค่าของเห็ดหลินจือไทย อย่างเห็ดหลินจือจีนกิโลกรัมละ 200-300 บาท เห็ดหลินจือไทยกิโลกรัม 1,000 บาท จะมาตัดสินด้วยราคาแล้วบอกไม่ใช้หรือ เราก็ต้องส่งเสริมว่าเห็นหลินจือที่แพงเพราะอะไร ของไทยมีการควบคุมสายพันธุ์ ส่วนของจีนไม่รู้เห็ดอะไร สายพันธุ์สม่ำเสมอหรือไม่ก็ไม่รู้ นี่คือวิธีคิด”

“แต่เมื่อเราไม่มีหน่วยงานที่สนับสนุนงานด้านวิชาการ หรือหน่วยงานที่มีกลับไม่ทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการจริงๆ ข้อมูลในเรื่องคุณค่าก็จะไม่เกิด ตัวอย่างเช่น กระเทียมจีน หากวัดกันเฉพาะขนาด แน่นอนว่ากระเทียมจีนลูกใหญ่กว่า แต่ถามว่ากระเทียมจีนหอมสู้กระเทียมไทยได้หรือไม่ ไม่ได้เลย หรือสารในกระเทียมไทยดีกว่ากระเทียมจีนอย่างไร ทุกวันนี้กระเทียมจีนมายึดตลาดได้ก็เพราะหน่วยงานเหล่านี้ไม่สร้างข้อมูลวิชาการมาเพื่ออธิบาย”

ถามว่าอาเซียนจะเปิดในสิ้นปีนี้แล้ว ผู้ประกอบการไทยพร้อมหรือไม่ วัชรพงษ์ ตอบชัด “ไม่พร้อมเลย” เขา ขยายความต่อไปว่า ปัญหาเมื่อ 10 ปีก่อนเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข มีเพียงสิ่งเดียวที่เปลี่ยนแปลงไปคือเริ่มคุยกันรู้เรื่อง มีความเป็นมิตรต่อกัน แต่โดยเนื้อหาสาระยังไม่ถูกแก้ไขอะไร

“แต่อย่างไรสิ้นปีนี้ก็จะต้องเดินไป ที่จริงทุกวันนี้มีคณะทำงานวิชาการของอาเซียน 10 ประเทศ ชื่อ TMHS กำลังคุยกันเรื่องการขึ้นทะเบียน GMP ยาแผนโบราณอยู่ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ หรือต้นปี 2558 ว่าเกณฑ์มาตรฐานใน 10 ประเทศ จะเป็นอย่างไร ในเมื่อยังไม่มีข้อกำหนดคาดว่าการแข่งขันที่รุนแรงจึงยังไม่เกิดขึ้น”

แม้ว่าการแข่งขันจะยังไม่ดุเดือดเลือดพล่าน หากแต่อุปสรรคเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข มิเช่นนั้นประตูโอกาสด้านสมุนไพรในเมดิคัล ฮับ คงจะแคบลงเรื่อยๆ หรือเลวร้ายที่สุดก็อาจจะปิดสนิท