ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมนานาชาติ Early Childhood Caries Forum ร่วมกับ 5 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก The Borrow Foundation, UK หวังลดปัญหาฟันน้ำนมผุในกลุ่มเด็กปฐมวัย
                    
วันนี้ (13 พ.ค.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยหลังเป็นเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ Early Childhood Caries Forum ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค โฮเทล กรุงเทพมหานคร ว่า กรมอนามัยได้สร้างเครือข่ายการทำงานระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกับอีก 5 ประเทศ คือ ประเทศพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่มีฟันน้ำนมผุสูงในเด็กปฐมวัย มากกว่าร้อยละ 70 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคฟันผุในฟันน้ำนม หาแนวทางการควบคุมปัจจัยเสี่ยง และพัฒนามาตรการลดโรคฟันผุที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เนื่องจากปัญหาฟันผุในฟันน้ำนม นอกจากจะก่อให้เกิดความเจ็บปวด มีการติดเชื้อ และมีปัญหาการบดเคี้ยวแล้ว ยังมีผลต่อน้ำหนักและการเจริญเติบโตของเด็ก โดยปัจจัยเสี่ยงของฟันผุเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงซึ่งอยู่ในรูปของอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม และขาดการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากของเด็กโดยผู้ปกครอง
       
นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ข้อมูลการสำรวจสุขภาพช่องปากขององค์การอนามัยโลกพบว่า ฟันผุในเด็กมีอัตราการเกิดโรคสูง โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชีย ซึ่งผลการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่าปัญหาฟันผุในเด็กเล็กไม่ได้มีผลกระทบแค่ฟัน แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพโดยรวม เช่น การขาดสารอาหาร การติดเชื้อในลำคอ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจปัญหาด้านทันตสาธารณสุข พบว่า เด็กไทยอายุ 3 ปี มีประสบการณ์ฟันน้ำนมผุถึงร้อยละ 51.7 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 78.5 เมื่ออายุ 5 ปี  ปัญหาฟันผุในเด็ก มีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคของเด็กที่นิยมกินอาหาร หรือขนมที่หาซื้อได้ง่าย เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ นอกจาก  จะทำให้เกิดปัญหาฟันผุในเด็ก ยังก่อให้เกิดความเจ็บปวด การติดเชื้อ และสร้างปัญหาการบดเคี้ยวอาหาร ซึ่งมีผลต่อน้ำหนัก การเจริญเติบโต และบุคลิกภาพเด็ก ที่สำคัญมีผลกระทบต่อการเรียน ทำให้เด็กหยุดเรียน และปัญหาฟันผุ   ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียฟันในวัยเด็กยังอาจสะสมจนกลายเป็นการสูญเสียฟันแท้ ทั้งปากในวัยสูงอายุตามมา
       
นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กคือความทุกข์ทรมานจากการปวดฟันต้องขาดเรียนเพื่อไปรับบริการทันตกรรมประมาณ 400,000 คนต่อปี ฟันที่เหลือเสี่ยงต่อการผุ และเหงือกอักเสบมากขึ้น การรักษาโดยทันตบุคลากร จึงทำได้ด้วยการอุดฟันและถอนฟัน นอกจากนี้ยังมีบริการป้องกันโดยเคลือบหลุมร่องฟัน และการทาฟลูออไรด์เฉพาะที่ แต่การปรับพฤติกรรมในระยะยาว ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งสมาคมผู้ปกครอง ถือเป็นองค์กรสำคัญที่นำแนวคิดและแนวปฏิบัติจากโรงเรียนสู่ครอบครัว และยังเป็นตัวเชื่อมระหว่างโรงเรียนและชุมชนอีกด้วย เพราะในชีวิตประจำวันของเด็กจะอยู่ที่บ้าน ที่โรงเรียนและในชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และในชุมชน การเพิ่มศักยภาพของเด็กและผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก ตลอดจนการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง และชุมชน เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กได้
       
“สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติ Early Childhood Caries forum  ในครั้งนี้ มีการนำเสนอข้อมูลโดยผู้แทนทั้ง 6 ประเทศ ระดมความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชีย และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางให้กับประเทศต่าง ๆ นำไปปรับใช้แก้ปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กอย่างเหมาะสมตามแต่ละบริบทของประเทศต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด