ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แรงงานจับมือกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน จี้ประกันสังคมปรับสิทธิรักษาพยาบาล ชี้เป็นกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายสมทบค่ารักษา แต่ได้รับบริการด้อยกว่าสิทธิ์อื่น ร้องปลดล็อกสิทธิการรักษาต้องได้รับทันที ไม่ต้องรอจ่ายสมทบครบ 3 เดือน พร้อมยื่น 5 ประเด็นใหญ่ยกเลิกเพดานทำฟัน ยกเลิกจำกัดจำนวนการคลอดบุตร ให้การคลอดเป็นรักษาพยาบาล ไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน คุ้มครองค่ารักษากรณีคนทำร้ายตัวเอง การบำบัดสารเสพติด และฮีโมฟีเลีย

เวบไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า วันที่ 19 พฤษภาคม ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนและกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกร่วมกันแถลงข่าว ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรม ระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ยังต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลรายเดือนเข้ากองทุนประกันสังคม แต่กลับไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งกฎหมายก็ไม่ครอบคลุมโดยมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา คือ ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือนจึงจะได้สิทธิการรักษาและกรณีคลอดบุตรต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 7 เดือน จึงได้สิทธิรับค่าคลอดเหมาจ่าย จึงเรียกให้เกิดสิทธิทันทีที่ส่งเงินเข้ากองทุน

นายสมพร กล่าวต่อไปว่า ข้อเรียกร้องเร่งด่วนที่อยากให้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) เร่งดำเนินการคือ 1.ให้การคลอดเป็นการรักษาพยาบาล ไม่ต้องสำรองจ่ายเองและเงินเหมาจ่ายค่าคลอดบุตรเดิมให้คงไว้ และยกเลิกการจำกัดการคลอดบุตร 2 ครั้ง 

2.ยกเลิกการจำกัดสิทธิไม่รักษากรณีการทำร้ายตัวเอง(ฆ่าตัวตาย) และหากเสียชีวิตก็ต้องได้รับการชดเชยตามสิทธิ 3.การรักษาเกี่ยวกับฟันต้องไม่กำหนดเพดานวงเงินและเงื่อนไขจำนวนครั้งต่อปี 4.ให้สิทธิการรักษากรณีการบำบัดสารเสพติดต่างๆ 

5.พัฒนาสิทธิประโยชน์การดูแลรักษาผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย(โรคเลือดไหลไม่หยุด) ให้ได้รับการดูแลเช่นเดียวกับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งปัจจุบันวัยทำงานที่ป่วยด้วยโรคนี้และอยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 100 คนแต่ก็ต้องลาออกจากงานเนื่องจากสิทธิประกันสังคมไม่ครอบคลุม จึงต้องมาใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน ทั้งนี้จะนำข้อเสนอทั้งหมดไปยื่นต่อสปส.เร็วๆ นี้

ด้านน.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพกล่าวว่า อยากให้สปส.มีการคุ้มครองสิทธิและชดเชยเมื่อเกิดความเสียหายจากการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับสปสช.ที่มีกำหนดไว้ในมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)หลักประกันสุขภาพ โดยมองว่าคณะกรรมการทางการแพทย์มีอำนาจในการจัดตั้งกองทุนชดเชยดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการรักษาอย่างหนึ่ง โดยควรกำหนดค่าชดเชยความเสียหายเช่นเดียวกับ สปสช. เช่น เสียชีวิต จ่ายไม่เกิน 400,000 บาท กรณีทุพพลภาพจ่ายไม่เกิน 240,000 บาท 

นอกจากนี้ทางกลุ่มและเครือข่ายได้ร่วมกันจัดทำร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข เพื่อให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งมาตั้งเป็นกองทุนกลางไว้จ่ายชดเชยให้แก่ประชาชน ข้าราชการและผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) เพื่อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว สมาชิกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า อยากให้สปส.จัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจากตัวแทนผู้ประกันตนปีละ 1 ครั้ง