ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เอ็นจีโอด้านสาธารณสุข” เผยปัญหา “กองทุนสุขภาพตำบล” หลังพบ อปท. หลายแห่งนำงบซื้อ “แพคเก็จตรวจสุขภาพเอกชน" ชี้เป็นแค่การละลายน้ำ ชาวบ้านได้ประโยชน์น้อย แต่นักการเมืองท้องถิ่นได้คะแนนเสียง แนะ สปสช.กำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพให้ชัด พร้อมกำหนดแนวทางการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เน้นให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักการดูแลสุขภาพ  

ทันทีที่พูดถึง “งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค” คนส่วนใหญ่จะคิดถึง “การตรวจสุขภาพ การวินิจฉัยทางการแพทย์” ที่ถูกนำเสนอขายในรูปแพ็คเก็จโดยโรงพยาบาลเอกชนอย่างแพร่หลาย กลายเป็นความนิยมของคนในสังคม  ส่งผลให้ความเข้าใจงานการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคปัจจุบันเดินไปแบบผิดทิศผิดทาง

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า แม้แต่ “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” หรือที่เรียกคุ้นปากว่า “กองทุนสุขภาพตำบล” ยังพบการจัดซื้อแพ็คเก็จการตรวจสุขภาพเหล่านี้ให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนาดใหญ่ อย่างเทศบาลต่างๆ ที่มีเงินกองทุนสุขภาพตำบลจำนวนมากหลักล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากมองว่า ไม่เพียงแต่เป็นวิธีส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ทำได้ง่ายๆ แต่ชาวบ้านยังเห็นผลงานด้านการดูแลสุขภาพของ อปท.ที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้ว แพ็คเก็จการตรวจสุขภาพชาวบ้านแบบนี้อาจไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย หรือมีประโยชน์บ้างแต่อาจน้อยมาก   

ทั้งนี้เนื่องจากการตรวจสุขภาพให้กับชาวบ้านของ อปท.นั้น ส่วนใหญ่จะมุ่งไปยังกลุ่มคนไม่ได้ทำงาน อยู่กับบ้าน อายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน ผู้สูงอายุ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง อย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่ต้องเข้ารับการรักษาและตรวจเช็คต่อเนื่องยังโรงพยาบาลรัฐอยู่แล้ว หรือพูดง่ายๆ คือเป็นกลุ่มที่รู้ตัวเองและป่วย ดังนั้นการที่ อปท.จัดซื้อแพคเก็จตรวจสุขภาพให้กับชาวบ้าน จึงเป็นแค่การตรวจซ้ำซึ่งไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่คุ้มค่า และสูญเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ ประกอบกับแพ็คเก็จการตรวจสุขภาพที่ทางบริษัทเอกชนหรือสถานพยาบาลเอกชนนำมาเสนอขายนั้น จะเป็นการตรวจโดยทั่วๆ ไป อย่างการวัดความดัน เจาะเลือดตรวจ การตรวจปัสสาวะ และการเอ็กซเรย์ปอด เป็นต้น ขณะที่กลุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพจริงๆ คือกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 25-40 ปี ที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อโรค กลับไม่ได้การตรวจสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยง 

“ปัญหานี้มักพบในเทศบาลขนาดใหญ่ ที่มีเงินกองทุนสุขภาพตำบาล 2-3 ล้านบาทขึ้นไป จนถึงหลักสิบล้าน ส่วนกองทุนสุขภาพตำบลขนาดเล็กที่มีเงนไม่กี่แสนบาทคงทำไม่ได้อยู่แล้ว อย่างที่เทศบาลนครเชียงใหม่ มีประชากร 1.2 แสนคน มีงบกองทุนสุขภาพตำบาลอยู่ที่ 9 ล้านบาท ซึ่งทำการจัดซื้อแพ็คเก็จตรวจสุขภาพบริการชาวบ้าน โดยทยอยตรวจซึ่งปีนี้อยู่ที่ 5,000 คน ราคาเฉลี่ย 600 บาทต่อคน เป็นเงิน 3 ล้านบาท” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวและว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ อปท.นิยมซื้อแพ็คเก็จตรวจสุขภาพให้กับชาวบ้าน เพราะสามารถใช้หาเสียงได้ โดยจะมีขึ้นคัตเอาท์ใหญ่ๆ เป็นรูปนักการเมืองท้องถิ่นอยู่ด้านหน้า ขณะที่ชาวบ้านเองก็รู้สึกดี เนื่องจากมีหมอมาตรวจถึงชุมชน  

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีบริษัทที่รับจัดตรวจสุขภาพออกเดินสายไปยัง อปท. ต่างๆ เพื่อขายแพคเก็จตรวจสุขภาพ ส่วนใหญ่จะใช้งบประมาณกองทุนสุขภาพตำบลดำเนินการจัดซื้อ เรื่องนี้เห็นว่าทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีการนำงบประมาณไปซื้อแพคเก็จตรวจสุขภาพที่ไม่จำเป็น และนำเงินมาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งปัจจุบันเปิดช่องไว้อยู่ พร้อมกันนี้ต้องสนับสนุนงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นทิศทางของกองทุนสุขภาพตำบล

กองทุนสุขภาพตำบล เป็นกองทุนที่ยึดหลักการที่ว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ด้วยวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้ชาวบ้านตระหนักรู้ เข้าใจ และจัดการปัญหาสุขภาพตามวิถีชีวิตของตัวเอง อย่างเช่น การปรับพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อโรค ลดหวาน มัน เค็ม รวมไปถึงการจัดสภาพแวดล้อม อย่างเรื่องอาหารปลอดภัย จึงไม่ใช่แค่การตรวจสุขภาพด้วยทางการแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้หลักเกณฑ์การใช้จ่ายงบประมาณกองทุนสุขภาพตำบลที่ทาง สปสช. กำหนดให้การสนับสนุนกิจกรรม มี 4 ประเภท คือ 1.การจัดบริการสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ 2.การสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยบริการสาธารณสุขที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่น 3.การสนับสนุนกิจกรรมการสร้างเสริมสุขภาพโดยประชาชนและชุมชนท้องถิ่น และ 4.สนับสนุนกิจกรรมบริหารกองทุน พัฒนาศักยภาพกรรมการ และพัฒนาระบบบริหารจัดการ และในปี 2557 นี้ ได้เพิ่มเติมเรื่องสนับสนุนกิจกรรมการดูแลผู้สูงอายุและการดูแลเด็ก

จากแนวทางหลักเกณฑ์ข้างต้นนี้ ที่ผ่านมางบประมาณของกองทุนสุขภาพตำบลส่วนใหญ่จึงลงไปที่การจัดบริการสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่ออกมาในรูปการซื้อแพคเก็จตรวจสุขภาพแล้ว งบประมาณยังถูกกระจายให้กับหน่วยบริการสาธารณสุข อย่าง โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ขณะที่การสนับสนุนกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพโดยประชาชนและชุมชนนั้นน้อยมาก แม้ว่าเมื่อดูจำนวนโครงการจะมีมาก แต่โครงการเหล่านี้จะใช้งบดำเนินการแค่นิดเดียว อย่างเช่น โครงการออกกำลังกายด้วยไม้พอง ใช้งบเพียงแค่ 1-2 หมื่นบาท ระยะเวลาโครงการเพียงแค่ 3 เดือน ซึ่งเงินส่วนใหญ่ใช้ไปกับค่าวิทยากร พอเสร็จสิ้นโครงการก็จบไป  

“ก่อนอื่นเราต้องตอบโจทย์งานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคว่าคืออะไร หากเป้าหมายของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นไปเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักในการดูแลตนเองเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี การจัดแพคเก็จตรวจสุขภาพให้ชาวบ้านก็คงไม่ใช่ ซึ่งที่ผ่านมามีบางพื้นที่ทำได้ดี อย่างเช่นโครงการให้ความรู้นักเรียน ลดพฤติกรรมบริโภคหวาน มัน เค็ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อสารพัดโรคที่จะตามมา” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว และว่า นอกจากนี้การตรวจสุขภาพด้วยการวินิจฉัยทางการแพทย์ อย่างการตรวจเลือด การเอ็กซเรย์ ก็ไม่ได้ให้ผลดีเสมอไป เพราะการตรวจบางครั้งอาจมีผลลวง ที่นอกจากทำให้เกิดความวิติกังวลต่อผลที่ตรวจพบแล้ว บางครั้งทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาจนส่งผลกระทบ ทั้งๆ ที่อาจไม่ได้ป่วยด้วยโรคนั้นๆ

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวปิดท้ายว่า วันนี้จึงเป็นหน้าที่ของ สปสช.ที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการตรวจสุขภาพให้ชัดเจน ซึ่งนอกจากจะทำให้งานด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคดำเนินไปถูกทิศทางแล้ว ยังช่วยไม่ให้ต้องเกิดการสูญเสียงบประมาณไปโดยใช่เหตุ โดยงบประมาณเหล่านั้นควรที่จะนำมาใช้ด้านอื่นเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่คุ้มค่ามากกว่า