ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ASTVผู้จัดการรายวัน - "ปรียนันท์" หนุนเหยื่อนโยบายลวงโลก "ฉุกเฉิน 3 กองทุน" ฟ้องศาลปกครองให้ความเป็นธรรม หลังถูก รพ.เอกชน เรียกเก็บค่ารักษาหลักแสนถึงหลักล้านบาท ขณะที่เบิกได้แค่หลักหมื่น แถมไม่จ่ายห้ามย้าย รพ.  ทั้งที่ รบ.อ้างชัด สปสช.ตามจ่ายให้ทุกราย แนะวิธีเอาตัวรอดจาก รพ.กักขังหน่วงเหนี่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ระบุว่า คนไข้ที่เข้ารักษาแบบฉุกเฉินกับ รพ.เอกชน แล้วถูกโรงพยาบาลให้สำรองจ่ายก่อนเป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาท แต่โรงพยาบาลทำเรื่องเบิกคืนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้เพียงหลักหมื่น ทั้งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยร่วมกับ สปสช.ว่า ฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาลใดก็ได้ สปสช.จะจ่ายให้ทั้งหมด แต่สุดท้ายกลายเป็นนโยบาลลวงโลก ขณะนี้ เครือข่ายฯ จะช่วยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ทุกราย โดยให้ติดต่อมาที่เครือข่ายฯ

นางปรียนันท์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว 3 กองทุน คือหากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ไม่ได้รับการรักษาแล้วอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตนั้น สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใด ก็ได้ รวมทั้ง รพ.เอกชน โดยจะไม่มีการถาม สิทธิ ไม่ต้องสำรองจ่าย เนื่องจาก สปสช.จะจ่ายให้ทั้งหมดนั้น รัฐบาลเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายไว้เมื่อ เม.ย. 2555 แต่ทุกวันนี้กลับมีปัญหา เป็นนโยบายลวงโลก ซึ่งหลังประกาศนโยบายเริ่มมีคนมาร้องเรียนที่ตน 4-5 ราย ทุกรายต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท ปัญหาคือบางโรงพยาบาลอ้างว่าไม่ได้ เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทำให้ญาติจำต้อง เซ็นยินยอมให้ผ่าตัด ต้องไปกู้หนี้ยืมสินแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อแลกกับชีวิตผู้ป่วย

"มีอยู่เคสหนึ่งก็เจอลักษณะเช่นนี้ เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วจะย้ายไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลอื่นกลับไม่สามารถย้ายได้ โดยโรงพยาบาลอ้างว่าจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน ซึ่งสุดท้ายพอทำเรื่องจริงๆ โรงพยาบาลกลับสามารถเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลสิทธิฉุกเฉินจาก สปสช.ได้ แต่เบิกคืนได้เพียง 7.6 หมื่นบาทจากค่ารักษา 5 แสนบาท" นางปรียนันท์ กล่าว

นางปรียนันท์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบผู้ที่ประสบปัญหาจากนโยบายนี้ ได้ร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และ สปสช.รวมแล้ว 1,140 ราย ร้องเรียนที่ตนหลายราย ซึ่งแต่ละกรณีล้วนมีค่าใช้จ่ายสูงทั้งสิ้น ซึ่งปี 2555-2556 ก็มีการออกมาเรียกร้องอยู่เนืองๆ ทาง สปสช. และ รมว.สาธารณสุข ก็รับทราบปัญหา จึงหวังว่ารัฐบาลจะมีแนวทางแก้ไข แต่ผู้ป่วยกลับตกเป็นเหยื่อจากนโยบายนี้เพิ่มนี้ จึงอยากให้ สปสช. และ สธ.บอกเลิกนโยบายนี้ไปก่อน เพราะใช้ไม่ได้จริง โดย รพ.เอกชน ไม่ให้ความร่วมมือ

นางปรียนันท์ กล่าวด้วยว่า ทางแก้ปัญหาคือการฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ เนื่องจากผู้ป่วยและญาติไม่รู้จะต้องไปทวงเงินคืนจากใคร ใครเป็นเจ้าภาพ ซึ่งตอนแถลงข่าวนโยบายก็พร้อมได้หน้ากันทุกฝ่าย แต่พอมีปัญหากลับไม่มีหน่วยงานใดยื่นมือเข้าช่วย ซึ่งการให้ศาลปกครองตีความนั้นจะได้ทราบเลยว่า รพ.เอกชนคิดค่ารักษาพยาบาลเกินจริงหรือไม่ หรือศาลจะตัดสินว่าเราควรจ่ายเงินเท่าไร หรือไม่ควรจ่ายจากปัญหานโยบายลวงโลกนี้

สำหรับคนที่อาจเจอเหตุการณ์ เช่นนี้แนะนำว่า ถ้าเข้าเงื่อนไขฉุกเฉินอย่าจ่ายเงิน เมื่อคนไข้ดีขึ้นให้รีบย้ายไปโรงพยาบาลตามสิทธิ ถ้าโรงพยาบาลไม่ให้ย้ายโดยอ้างว่าต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อนนั้น ให้ดำเนินการแจ้งความข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งหนี้จะถูกระงับ เรายังไม่ต้องจ่าย โดยอาศัยใบแจ้งความยื่นให้โรงพยาบาล

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 21 พฤษภาคม 2557