ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัด สธ.เสนอ 4 ข้อในที่ประชุมฝ่ายสังคมจิตวิทยา ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพเท่าเทียม ลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ เพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมเตรียมการแยกตัวจาก กพ. หลังจากที่ผ่านมาไม่ได้ดูแลข้าราชการอย่างที่ควรจะเป็น

ที่กระทรวงสาธารณสุข-เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมร่วมกับฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีพล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา เป็นประธาน พร้อมด้วยปลัดกระทรวงและผู้บริหารระดับสูงจาก 7 กระทรวง ว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนั้นได้มีการได้มีการนำเสนอแนวทางการทำงานของหลายๆ เรื่อง ต่อ ฝ่ายจิตวิทยาสังคม เช่น 1. การการบริการเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด 2. การจัดทำเขตบริการสุขภาพ 12 เขต 3. การดูแลประชาชนโดยแยกออกเป็น 5 กลุ่ม คือ เด็ก วัยเรียน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ 4. เรื่องความปลอดภัยและการสร้างขวัญกำลังใจให้กับของคุลากรทางการแพทย์ ซึ่งรวมไปถึงการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ ซึ่ง สธ.ยังค้างการบรรจุอีก 2 ปี ซึ่งเดิมทียังติดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่จากนี้สามารถดำเนินการได้เลย โดยเสนอตรงให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.พิจารณา รวมถึงค่าตอบแทนที่เป็นธรรม   

นอกจากนี้ยังได้มีการหารือถึงแนวทางการเตรียมการออกนอกการดูแลของ สำนักงาน ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวไม่ได้ดูแลประชาชนเท่าที่ควร ไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องศักดิ์ศรีของข้าราชการอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้คาดว่าจะต้องมีการจัดทำแผนงานตลอดในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการศึกษาเรื่องนี้มานานเช่นเดียวกัน แต่ก็ต้องศึกษากระทรวงอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ต้องมาดูว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของฝ่ายสังคมจิตวิทยานั้นได้มีการคุยเรื่องการปรับทัศนตคิของคน เช่น คนในหมู่บ้านเสื้อแดงหรือไม่ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการคุยเรื่องนี้เหมือนกัน และเห็นว่าเป็นเรื่องที่สายสังคมจิตวิทยาจะต้องทำ คงจะได้หารือกันต่อ โดยอาจจะต้องไปดูสาเหตุ ส่วนตัวคงจะไปก้าวล่วงไม่ได้ แต่ที่ผ่านมาก็มีการศึกษาหลายอย่าง เช่น คอป. ส่วนตัวเห็นว่าสาเหตุหลักมาจากเรื่องของความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงมีความจำเป็นที่ทั้ง 7 กระทรวงที่อยู่ในฝ่ายสังคมจิตวิทยาจะต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าวจะต้องให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยาเป็นผู้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง   

“ทุกกระทรวงมีหน้าที่สร้างความเข้าใจเรื่องนี้ให้กับคนในชาติ ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงใด กระทรวงหนึ่ง โดยเฉพาะทัศนคติที่บอกว่าโกงได้ ถ้ายังทำประโยชน์ ทัศนคติอย่างนี้ไม่ถูกต้อง เป็นค่านิยมที่ผิด ทัศนคติแบบนี้ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเรารับไม่ได้ ผมว่าเราต้องทำเรื่องนี้กันจริงๆ” นพ.ณรงค์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมดังกล่าว นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์  ได้เสนอแผนปฏิรูปกระทรวง ว่าได้เริ่มทำตั้งแต่ 6 เดือนที่แล้ว โดยมีชมรม วิชาชีพ ต่างๆ ในสังกัดสธ.เข้าร่วมในนามประชาคมสาธารณสุข โดยหลังจากนี้ สธ. จะเน้นในเรื่องการกระจายอำนาจ สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียม รวมถึงจะลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละกองทุนสุขภาพ จะเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา  ปฏิรูประบบการเงินการคลัง และพัฒนาวาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน