ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยผลงานวิจัยพฤติกรรมสุขภาพตามสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ ในเด็กนักเรียนอายุ 9-12 ปีทั่วประเทศ ในปี 2557 พบว่าโดยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ทั้งด้านโภชนาการ ออกกำลังกาย อารมณ์สังคมและครอบครัว และใช้วิธีกินเพื่อระบายความทุกข์ และยังพบเด็กชอบดื่มน้ำอัดลม กินขนมหวาน เสี่ยงความอ้วนเยือน จับมือโรงเรียนสังกัดสพฐ. เร่งสร้างพฤติกรรมสุขภาพ หวังเด็กสุขภาพดี สมองดี อารมณ์ดี

นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 28 พฤษภาคมของ ทุกปี กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นวันสุขบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ความสำคัญกับสุขภาพเด็ก ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสมอง เป็นต้นทุนชีวิตของเด็ก ในการพัฒนาด้านต่างๆ เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศในอนาคต ทั้งนี้ ผลการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพตามสุขบัญญัติแห่งชาติของนักเรียนอายุ 9-12 ปีทั่วประเทศครั้งล่าสุดในปี 2557 ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย อารมณ์สังคม และครอบครัว พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับพอใช้ ร้อยละ 77 อยู่ในระดับปรับปรุงร้อยละ 18 โดยอยู่ในระดับดีเพียงร้อยละ 6 จากการสำรวจครั้งนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประการ ประการแรกคือด้านโภชนาการทุกภาคยังอยู่ในระดับพอใช้ และมีพฤติกรรมเสี่ยง คือเด็กยังดื่มน้ำอัดลม และขนมหวาน เช่น ชาเย็น น้ำแดง โกโก้ รับประทานอาหารจานด่วน เช่น แฮมเบอร์เกอร์ พิซซ่า ไส้กรอก ประการที่สองคือด้านอารมณ์ พบว่าเมื่อนักเรียนมีความทุกข์จะระบายอารมณ์ด้วยการกิน ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะโภชนาการเกิน และโรคอ้วนตามมาภายหลัง

ส่วนในด้านของสุขภาพอนามัย พบว่าเด็กนักเรียนในภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพ มีพฤติกรรมอยู่ในระดับดีมากที่สุด เช่น การดูแลความสะอาดร่างกาย การแปรงฟัน การล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหารทุกครั้ง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในระดับพอใช้มากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจครั้งนี้สะท้อนถึงความเร่งด่วนในการปลูกฝังสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการให้แก่เด็กนักเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลาย โดยในปีนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ร่วมมือกับสมาคมสุขศึกษาแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน พัฒนาคุณภาพงานสุขศึกษาในสถานศึกษาให้มีมาตรฐาน พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาสุขศึกษา โดยจัดอบรมครูผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 185 เขต ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบด้านอนามัยและสุขศึกษาทั่วประเทศ เน้นหนักเรื่องสุขบัญญัติ 10 ประการให้ใช้จริงในชีวิตประจำวันของเด็ก และจะประเมินผลที่สุขภาพของเด็กโดยตรง เช่น ฟันไม่ผุ เล็บมือเล็บเท้าสั้นสะอาด น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เป็นต้น

ด้านนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กองสุขศึกษา ได้จัดทำนวัตกรรมชุดจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านสุขภาพในโรงเรียน ประกอบด้วย เอกสารแผ่นพับ ซีดี บัตรคำ และคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สุขบัญญัติแห่งชาติ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และคู่มือการสร้างสุขภาพเด็กไทย เพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนเกิดความสนใจอยากเรียนรู้เรื่องสุขภาพ และปฏิบัติตามสุขบัญญัติข้อ 1-10 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานในการดูแลสุขภาพร่างกาย ประกอบไปด้วย 1.การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด 2.การรักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี 3.การล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย 4.การกินอาหารปรุงสุก สะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด 5.การงดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ 6.การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น 7.การป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท 8.การออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี 9.การทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ และ10.มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสังคม การปฏิบัติสุขบัญญัติจนเป็นนิสัยจะทำให้มีสุขภาพดีตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา