ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป็นที่น่าสนใจ เมื่อเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน หรือ SEATCA  ได้เปิดตัวแคมเปญตัวใหม่ชื่อว่า “Tobacco Industry De-normalization” เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนลดการบริโภคยาสูบ

ที่มาภาพ : www.tobacco-facts.net

แมรี่ แอสซุนต้า โคลันได ที่ปรึกษาด้านนโยบายของ SEATCA (SouthEast Asia Tobacco Control Alliance)ได้ประกาศเจตนารมณ์ในระหว่างทำเวิร์คช็อป”ระบบภาษีบุหรี่และการค้าบุหรี่เถื่อน” เมื่อวันที่ 22-23 พ.ค. ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมจากประเทศอาเซียน ผู้เชี่ยวชาญ บุคลากรด้านสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลกเข้าร่วม

แม้ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศแนวทางการรณรงค์เนื่องในวันงดบุหรี่โลก 31 พ.ค. โดยเน้นที่เรื่องมาตรการการขึ้นภาษียาสูบ แต่หลายประเทศในโลกกำลังประสบปัญหากับการดำเนินการมาตรการนี้ เพราะจริงๆแล้ว รัฐบาลยังคงถูกแทรกแทรงโดยบริษัทบุหรี่ จึงเป็นที่มาของการทำการรณรงค์ “Tobacco Industry De-normalization” เพื่อให้สังคมเห็นว่าธุรกิจยาสูบไม่ปรกติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การทำให้บรรจุภัณฑ์ยาสูบขาดความน่าสนใจ เปิดเผยกลุ่มหน้าม้าหรือตัวแทนบริษัทบุหรี่ หยุดให้บุหรี่มีส่วนร่วมในงานแสดงการค้าขาย ปฏิเสธการให้บริษัทบุหรี่อุปถัมภ์การวิจัย ไม่มอบสิทธิพิเศษให้แก่บริษัทยาสูบ เช่น การลดภาษีหรือการบรรจุเป็นสินค้าพิเศษในสัญญาการค้าระหว่างประเทศ

แมรี่กล่าวว่าการรณรงค์เพื่อลดการสูบบุหรี่ที่ผ่านมาเกิดอุปสรรคหลักจากขับเคลื่อนของตัวบริษัทบุหรี่ที่ต้องการขยายฐานคนสูบบุหรี่ให้มากขึ้น ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องรวมกันเอาชนะบริษัทบุหรี่โดยการทำให้สังคมมองเห็นว่าธุรกิจยาสูบและผลิตภัณฑ์ยาสูบไม่ใช่ธุรกิจปรกติ แม้ว่าธุริจยาสูบจะถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่เหมือนธุรกิจอื่นเพราะสร้างภาระด้านสุขภาพ

“ดังนั้น ธุรกิจยาสูบจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา” แมรี่กล่าว

ในส่วนของประเทศไทย บังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการ SEATCA ยอมรับว่ายังต้องมีการขับเคลื่อนอีกมาก บริษัทยาสูบคือความท้าทายหลักของทุกมาตรการเพื่อการลดการบริโภคยาสูบ เช่น การใช้เรื่องบุหรี่เถื่อนมาเป็นข้ออ้างในการสกัดมาตรการการขึ้นภาษี ใช้ข้อมูลบิดเบือนในการหนุนให้คนสูบบุหรี่มากขึ้น และใช้การฟ้องร้องทางศาลมาเป็นเครื่องมือในการล็อบบี้รัฐบาลในประเทศต่างๆไม่ให้ใช้มาตรการลดบุหรี่ เช่น กรณีที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังถูกบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่อย่างฟิลิปป์ มอริสฟ้องร้องในกรณีการออกนโยบายขยายภาพคำเตือนเป็น 85% ของซอง คดียังไม่มีข้อสรุป วันเริ่มใช้มาตรการต้องเคลื่อนออกไป คดีของไทยนี้ได้ถูกบางบริษัทบุหรี่นำไปกล่าวอ้างกับรัฐบาลของประเทศอื่น เพื่อเป็นการข่มขู่กลายๆว่าหากออกมาตรการขยายภาพคำเตือนอย่างไทยแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

หากเทียบกันในประเทศอาเซียน ประเทศสิงคโปร์มีความสามารถในการใช้มาตรการลดบุหรี่ได้ดีที่สุด เห็นได้จากราคาบุหรี่ยี่ห้อนำเข้าสูงที่สุดในภูมิภาคที่ 9.52 เหรียญสหรัฐ/ซอง หรือประมาณ 315 บาท และไม่มีผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผลิตภายในประเทศ  ประเทศกัมพูชามีราคาบุหรี่นำเข้าต่ำที่สุดในภูมิภาคที่ประมาณ 0.72-1 เหรียญสหรัฐ/ซอง หรือประมาณ 25-30 บาท ส่วนในประเทศไทยมีราคาบุหรี่นำเข้าอยู่ที่ซองละ 60 บาทขึ้นไป

เมื่อไล่เรียงดูมาตรการขึ้นอัตราภาษีสินค้ายาสูบในประเทศไทยจะพบว่า กรมสรรพาสามิตรได้ขยับขึ้นภาษีบุหรี่ในทุก 2-3 ปี โดยในปี 2547 มีอัตราภาษีที่ 75% ปี 2550 มีอัตราภาษีที่ 80% ปี 2552 มีอัตราภาษีที่ 85% และปี 2555 มีอัตราภาษีที่ 87% อย่างไรก็ตาม การขึ้นอัตราภาษีขยับทีละนิด ในขณะที่ค่าเงินสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ผู้คนยังมีกำลังซื้อบุหรี่ได้แม้จะมีการขึ้นอัตราภาษี จึงไม่สามารถช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ได้อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน ผลิตภันฑ์ยาสูบที่ผลิตภายในประเทศมีผู้ผลิตเป็นบริษัทของรัฐ ซึ่งมีนโยบายทำให้ราคาบุหรี่สามารถซื้อขายได้

“ในบรรดามาตรการทั้งหมด การขึ้นภาษีมีผลต่อยอดขายบุหรี่มากที่สุด แต่การขึ้นอัตราภาษีทีละนิดไม่มีผล ต้องขึ้นในอัตราที่มากพอสมควร” นางบังอรกล่าว

แหล่งข่าวภายในเล่าว่า การขับเคลื่อนมาตรการการขึ้นภาษีนั้นมีปัญหาตั้งแต่ในชั้นระดับเจ้าหน้าที่ ทางภาคสาธารณสุขเคยมีการนำโมเดลคำนวณการขึ้นอัตราภาษีเสนอต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบมาตรการทางภาษีบุหรี่ต่อไป แต่ทางกระทรวงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการจัดเก็บภาษีบุหรี่ที่ผ่านมา ซ้ำยังมีการพูดในเชิงเข้าข้างบริษัทบุหรี่ จึงทำให้การทำงานเพื่อขับเคลื่อนมาตรการภาษีบุหรี่ลำบากมาก

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ได้แสดงถึงความกังวลต่อความพยายามของบริษัทบุหรี่ในการยับยั้งการขึ้นภาษียาสูบ ซึ่งนับวันยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น  ขณะนี้ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส กำลังแคมเปญเพื่อไม่ให้รัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่โดยสนับสนุนให้มีการทำวิจัยถึงปริมาณบุหรี่หนีภาษีในเอเชียแปซิฟิกรวมทั้งประเทศไทยว่า มีอัตราบุหรี่หนีภาษีสูง โดยโทษว่ามีการเก็บภาษีสูงเกินไป รวมทั้งแสดงรายละเอียดโครงสร้างภาษีบุหรี่ไทยผ่านเฟซบุค “ชมรมผู้สูบบุหรี่ไทย หรือชมรมคนสูบบุหรี่” เชิญชวนให้ผู้สูบบุหรี่ไทยแสดงความคิดเห็นคัดค้านการขึ้นภาษีในอนาคต

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยปีละ  50,710  คน  และเป็นสาเหตุของภาระโรคอันดับที่สองของคนไทย  โดยทำให้คนเสียเวลาแห่งชีวิตจากการตายก่อนเวลา  628,061  ปี  และสูญเสียสุขภาวะจากการเจ็บป่วยหนัก 127,184  ปี ในแต่ละปี  ทำให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วย  52,200 ล้านบาท  ซึ่งคิดเป็น 0.5% ของ GDP

เรื่องที่เกี่ยวข้อง