ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.เตือน"สเตียรอยด์-ฟอร์มาลีน-เครื่องสำอาง" 3 ภัยเงียบคร่าชีวิตคนอีสานเร่งสร้างเครือข่ายคุ้มครองครอบคลุม 20 จังหวัด

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.57 ที่ห้องประชุมศรีจันทร์ โรงแรมเจริญธานี ปริ๊นเซส จ.ขอนแก่น ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นประธานเปิดงานบริโภคปลอดภัย 2557 ซึ่งสำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อเป็นมหกรรมความรู้ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ ในประเภท ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน และสถานพยาบาล โดยมีภาคีเครือข่ายสหายนักคุ้มครองผู้บริโภค นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เภสัชกร แพทย์ พยาบาล รวมไปถึงนักเรียนและนักศึกษา จากทั้ง 20 จังหวัดภาคอีสานร่วมงานกว่า 450 คน

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า การโฆษณาเกินจริงยังคงเป็นเรื่องที่มีการนำเสนอข้อมูลที่ทำให้ผู้บริโภคนั้นไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นข้อมูลที่จริงหรือเท็จอย่างไร ดังนั้นแผนการดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นบทบาทที่สำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่น ป้องกันไม่ให้ชุมชนได้รับความเสี่ยงต่ออันตรายที่จะได้รับจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวันได้ จึงทำให้แผนงานร่วมระหว่าง อย.กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดในการทำงานร่วมกันในฐานะภาคีเครือข่ายสหายนักคุ้มครองผู้บริโภคจึงเป็นแผนการดำเนินงานด้านการสร้างเกาะป้องกันในการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง ถูกต้อง รวดเร็ว และสามารถที่จะขยายผลไปสู่ประชาชนครอบคลุมทั้งในระดับตำบล หมู่บ้าน เพื่อต้านกระแสสังคมในยุคบริโภคนิยมที่จะสร้างนิยามใหม่ว่า รู้เขาหลอก อย่าเต็มใจให้หลอก

“ผู้บริโภครู้ว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผู้ผลิตทำการตลาดโหมกระหน่ำในการโฆษณา โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งต้องยอมรับว่ากระแสการบริโภคยังคงนิยมสรรหาผลิตภัณฑ์ต่างๆเหล่านั้นมาบริโภคกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีการบรรยายสรรพคุณและโฆษณาเกินจริง ทั้งนี้ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในรูปแบบของเครือข่ายเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ทั้งการจัดตั้งเครือข่ายการทำงานในทุกรูปแบบและการสร้าง อย.นร้อย ด้วยการนำนักเรียน นักศึกษา มามีส่วนร่วมในแผนการดำเนินงานดังกล่าวเพื่อให้เกิดการต่อยอดไปในชุมชนและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ตรวจพบพบว่ายังคงมีสารต้องห้ามที่พบในพื้นที่ภาคอีสาน 3 รายการหลักที่ยังคงต้องอยุ่ในการควบคุมและการตรวจสอบของทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย สารสเตียรอยด์ ที่มักจะมีการนำมาผสมกับอาหารเสริมต่างๆ ที่มีการโฆษณาเกินจริง ซึ่งผู้บริโภคต้องตรวจสอบถึงการซื้อสินค้าต่างๆว่ามาส่วนผสมหรือไม่เพราะสารดังกล่าวนี้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนและโรคกระเพาะอาหาร เพราะการผสมสารดังกล่าวผู้จำหน่ายจะระบุว่าสามารถที่จะแก้โรคปวดข้อ กระดูกหรือปวดหลัง แต่ทั้งนี้ยังคงเป็นสารต้องห้ามที่อยู่ในขั้นตอนของการเฝ้าระวัง ต่อด้วยสารฟอร์มาลีน ที่มักจะผสมมากับอาหารทะเล ซึ่งผู้บริโภคจะต้องตรวจสอบก่อนการซื้อทุกครั้ง สุดท้ายคือเครื่องสำอาง ที่มีการจำหน่ายในชุมชนและตามตลาดนัดที่พบว่ายังคงมีส่วนผสมของสารต่างๆที่ต้องห้ามและไม่ได้รับอนุญาตที่ถูกต้องรวมไปถึงการนำเข้าเครื่องสำอางจากประเทศเพื่อนบ้านที่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงกับผู้บริโภคได้เช่นกัน