ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย ชวนรณรงค์การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย. 57 เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้แก่บุคลากรและประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของการลดปริมาณขยะ วาง 5 ยุทธศาสตร์ดำเนินการแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 57 นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธาน เปิดกิจกรรม รณรงค์การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย. 2557 ว่า ทุกวันที่ 5 มิ.ย.ของทุกปี ทั่วโลกได้ร่วมกันรณรงค์จัดกิจกรรมปลูกจิตสำนึกรักษ์โลกขึ้น เพื่อเชิญชวนให้ประชาชน เกิดความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันปัญหาขยะล้นเมืองที่เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของประเทศ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ขยายเป็นวงกว้างแล้ว ยังพร้อมที่จะคุกคามสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างต่อเนื่องและรุนแรง

สำหรับประเทศไทยในแต่ละวัน มีขยะเกิดขึ้นประมาณ 41,532 ตันต่อวัน หรือกว่า 15 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นขยะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 8,766 ตัน ในเขตเทศบาลเมืองและเมืองพัทยา ประมาณ 16,620 ตัน และนอกเขตเทศบาล ประมาณ 16,146 ตัน ซึ่งขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ส่วนใหญ่เป็นเศษอาหารและอินทรีย์สาร ร้อยละ 64 รองลงมาคือ ขยะมูลฝอยที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ร้อยละ 30 แต่กลับมีการนำไปใช้ประโยชน์ หรือรีไซเคิล เพียง 3.91 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 26 หรือแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น และถึงแม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ สำหรับการก่อสร้างระบบกำจัดขยะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ยังมีการกำจัดขยะแบบไม่ถูกต้อง เช่น เทกองกลางแจ้ง การเผาในที่โล่ง อยู่ถึงร้อยละ 81 ของสถานที่ที่มีการกำจัดขยะ

แนวทางการแก้ปัญหาขยะ กรมอนามัยได้วาง 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1.การแยกขยะครัวเรือน หรือการแยกทิ้งขยะ ณ แหล่งกำเนิด เน้นการใช้ประโยชน์จากขยะ เมื่อทุกบ้าน หรือสถานที่ต่างๆ มีการแยกทิ้งขยะจะทำให้มีขยะ บางส่วนที่จำหน่ายได้จะถูกแยกนำไปจำหน่าย เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว หรือโลหะ ขยะบางส่วนจะถูกแยกนำกลับไปใช้ใหม่ เช่น เศษอาหาร พืชผัก ผลไม้ จะถูกนำไปทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักอีเอ็ม เป็นต้น ทำให้ขยะที่ต้องนำไปกำจัดมีปริมาณน้อยลง

2.การเก็บค่ากำจัดขยะ ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุขท้องถิ่น สามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้เฉพาะค่าเก็บขนเท่านั้น ส่วนค่ากำจัดเก็บไม่ได้ ซึ่งกรมอนามัยกำลังดำเนินการออกกฎหมาย เพื่อให้ท้องถิ่น หรือเทศบาล สามารถเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะได้

3.ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อลดการเคลื่อนย้ายขยะติดเชื้อ เน้นหลักการบำบัด หรือกำจัดที่แหล่งกำเนิด เช่น โรงพยาบาลใช้ Autoclave ทำลายเชื้อโรคในขยะก่อนทิ้ง เป็นต้น

4.การสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีการจัดการขยะให้ถูกสุขลักษณะ และเข้มงวดการทิ้งและกำจัดขยะอันตรายจากอุตสาหกรรมและบ้านเรือน

5.สำรวจกองขยะเก่าเพื่อทำสวนสาธารณะ ขณะนี้มีกองขยะเก่าประมาณร้อยละ 80 ทั่วประเทศ กำจัดไม่ถูกต้อง กรมอนามัยจะทำการตรวจสอบว่า กองขยะไหนไม่ปล่อยสารเคมี หรือสารโลหะหนักปนเปื้อนน้ำบาดาล น้ำผิวดิน หรือแม่น้ำลำคลองที่อยู่ใกล้กองขยะดังกล่าว กรมอนามัยจะเสนอให้เจ้าของ หรือท้องถิ่นดำเนินการฝังกลบทำเป็นสวนสาธารณะ โดยจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีสั่งการ

"ทั้งนี้ การจัดการขยะล้นเมืองที่ดีที่สุด ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือหลักจากประชาชนทุกคน ที่ตระหนักและรู้ถึงวิธีการจัดการขยะแต่ละประเภทให้ถูกวิธี โดยเฉพาะขยะพิษ ประเภทกระป๋องยาฆ่าแมลง หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย น้ำยา ทำความสะอาด เป็นขยะที่ต้องแยกใส่ถุงพลาสติกและนำไปทิ้งในถัง หรือภาชนะที่เก็บแยก ซึ่งมีสีและลักษณะแตกต่างจากถังขยะทั่วไป ส่วนใหญ่จะวางไว้ตามจุดต่างๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า แต่ถ้าไม่สามารถหาถังหรือภาชนะดังกล่าว เพื่อทิ้งขยะได้ ก่อนนำไปทิ้งต้องเขียนหน้าถุงว่าขยะอันตราย การคัดแยกขยะให้ถูกต้อง ไม่เพียงแต่ทำให้สภาพแวดล้อม ในชุมชนดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้ลดค่าใช้จ่ายให้กับชุมชนอีกด้วย" อธิบดีกรมอนามัยกล่าว