ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 5-6 มิถุนายน 2557 ที่โรงแรมเซ็นทาราดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ “กลไกการบริหารจัดการระบบติดตามผลการดูแลรักษาผู้เชื้อเอชไอวีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาคุณภาพระบบบริการ และการติดตามตัวชี้วัดสัญญาณเตือนเชื้อดื้อยาต้านไวรัส” จัดโดยความร่วมมือของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กรมควบคุมโรค(คร.)และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข(TUC) โดยมีผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล เครือข่ายภาคประชาสังคม รวมถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสปสช.เขต ๑ เชียงใหม่,เขต ๒ พิษณุโลก และจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรค(สคร.)ที่ 10 เชียงใหม่,ที่ 9 พิษณุโลก จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมในเวทีประชุม ครอบคลุมพื้นที่ 13 จังหวัดภาคเหนือ

 

แพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ จากสำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวนกว่า 250,000 คน โดย 75% เป็นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถานการณ์การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ของประเทศไทยในขณะนี้ พบว่ามีอุบัติการณ์หลายอย่างที่สะท้อนถึงปัญหาในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อฯ และผู้ป่วยเอดส์ ได้แก่ มีผู้ติดเชื้อฯ ที่ยังไม่ได้รับยาต้านไวรัสเข้ามารับบริการในระบบในสัดส่วนที่ต่ำเพียง 35% เท่านั้น มีผู้ติดเชื้อฯ ที่เข้าเกณฑ์ต้องรับยาต้านไวรัสแล้วแต่ยังคงไม่ได้รับยาต้านสูงถึง 43% ผู้ป่วยเอดส์มีอัตราการเสียชีวิตขณะที่ยังมารับบริการสูงขึ้น ผู้ติดเชื้อฯ เข้าถึงระบบบริการรักษาช้าอันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ติดเชื้อฯ เสียชีวิต แนวโน้มของการรักษาล้มเหลวหลังจากเริ่มรับยาต้านไวรัสใน 1 ปีแรกไม่ลดลง การขาดการติดตามรักษาผู้ติดเชื้อฯ มีอัตราเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับยาอย่างสม่ำเสมอและพบว่ามีการเปลี่ยนสูตรยาเนื่องมาจากสาเหตุเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น

นายแพทย์สรกิจ ภาคีชีพ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต ๑ เชียงใหม่ กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ สปสช. คร. และภาคีเครือข่ายการทำงานด้านเอดส์ จึงได้มีแนวทางการแก้ไขร่วมกัน เพื่อที่จะส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อฯ ได้รับการวินิจฉัยและเข้าสู่ระบบการรักษาเร็วขึ้น ขณะที่ภูมิต้านทานยังไม่ต่ำมาก โดยจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเสนอแนวทางการติดตามและบริหารจัดการโรคเอดส์โดยอาศัยโครงสร้างองค์กรและกลไกที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเครือข่ายพัฒนาคุณภาพระดับเขต เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพและวางแผนการบริหารจัดการ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพหน่วยบริการในการติดตามและป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยาต้านฯ รวมถึงการใช้ระบบสารสนเทศและข้อมูลที่มีอยู่ในการวิเคราะห์ค้นหาสาเหตุและติดตามผลการดำเนินงาน

โดยการจัดตั้งทีมพัฒนาคุณภาพในระดับเขต เพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานพยาบาล การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการพัฒนาคุณภาพในทุกระดับ การพัฒนาเครื่องมือและรวบรวมองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพบริการ และบูรณาการงานคุณภาพด้านเอดส์ เข้าสู่การรับรองคุณภาพของสถานพยาบาลและการรับรองคุณภาพเฉพาะโรคเพื่อความยั่งยืนและเป็นขวัญกำลังใจของคนทำงาน.