ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เมื่อกล่าวถึง "อาจารย์ใหญ่" ของนักศึกษาแพทย์แล้ว ทุกคนจะทราบกันดีว่า อาจารย์ใหญ่เหล่านั้นคือ ผู้ที่อุทิศตนเองให้ตำราอีกเล่มหนึ่งของการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาแพทย์ทั้งหลาย เมื่อพวกท่านได้ล่วงลับไปแล้ว แต่กว่าร่างของอาจารย์ใหญ่จะมีความพร้อมให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษานั้น จะต้องมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่รับ ดูแลและรักษาสภาพร่างของอาจารย์ใหญ่ ในฐานะเจ้าหน้าที่ผ่าและรักษาสภาพศพ

นายอิทธิณัฐ คงชาวนา เจ้าหน้าที่ผ่าและรักษาสภาพศพ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัย 27 ปี ที่ก้าวเข้าสู่อาชีพนี้ได้เพียง 1 ปีเท่านั้น ได้เล่าว่า เคยทำงานเป็นเซลล์ขายของมาก่อน มีรายได้ดีมีผลตอบแทนสูง แต่สังคมที่อยู่ไม่มีความเป็นมิตร ใครพลาดเป็นโดนเหยียบย่ำ ซึ่งตัวเองไม่ชอบสังคมแบบนี้ จึงได้ลาออกมากทำงานที่นิติเวช รพ.จุฬาฯ และย้ายมาที่คณะแพทยศาสตร์เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา

โดยมาประจำอยู่ที่ฝ่ายผ่าและรักษาสภาพศพ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ด้วยกันทั้งหมด 8 คน ทุกคนจะทำหน้าที่หมุนเวียนกันไป ทุกคนสามารถทำงานแทนกันได้ ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อิทธิณัฐชอบ และบรรยายกาศการทำงานที่เป็นมิตร ไม่มีการแก่งแย่งชิงดี ทุกคนทำงานให้กับร่างของอาจารย์ใหญ่ด้วยใจที่บริสุทธิ์ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาสามารถทำงานในด้านฐานะเจ้าหน้าที่ผ่าและรักษาสภาพศพด้วยความสุขใจจนมาถึงทุกวันนี้

"ทำงานที่นี่ไม่มีหลักสูตรใดๆ อาศัยการเรียนรู้จากรุ่นพี่ที่ทำมาก่อน เรียนรู้เรื่องการรักษาสภาพร่างอาจารย์ใหญ่ตั้งแต่เริ่มกระบวนการแรก คือ การไปรับอาจารย์ใหญ่ตามสถานที่ที่ญาติแจ้งมา จากนั้นต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจดูว่า มีโรคติดเชื้อต่างๆหรือไม่ เช่น เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบต่างๆ ไม่มีคดีความใดๆ จากนั้นทำความสะอาดร่างเพื่อทำการรักษาสภาพร่างต่อไป เพื่อเก็บร่างไว้ในนักศึกษาแพทย์ได้ศึกษากันต่อไป"

หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า มาทำงานกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วจะกลัวหรือไม่ อิทธิณัฐ บอกว่า ในส่วนตัวเขาไม่กลัว เพราะเขามีความเชื่อว่า ผู้ที่อุทิศร่างกายได้นั้นเขาน่าจะเป็นคนที่มีจิตใจที่ดีงามอยู่แล้ว และตนเองก็เชื่อว่า การที่ได้มีโอกาสมาทำงานรักษาสภาพร่างกายให้กับอาจารย์ใหญ่เหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน

อิทธิณัฐ เล่าว่า ในการทำงานแต่ละวันแต่ละเดือนจะไม่เหมือนกัน บางเดือนมีอาจารย์ใหญ่เข้ามาน้อย มาเดือนมีเข้ามามาก เคยมีสติสูงสุดคือ มี 46 ร่างเข้ามาใน 1เดือน น้อยสุด คือ 3 ร่าง. ส่วนมากจะมีอายุระหว่าง 75-80 ปี ซึ่งทางเราจะไม่ทราบเลยว่า ในแต่ละปีจะมีร่างอาจารย์ใหญ่เพียงพอต่อนักศึกษาแพทย์หรือไม่

อิทธิณัฐ เล่าว่า เขายังจำวันแรกของการทำงานได้ว่า อาของเขาบอกว่าคนอื่นเขาทำได้เราต้องทำได้ ทำให้เขาสามารถทำงานนี้ได้ด้วยความสบายใจ ทำทุกอย่างจนกลายเป็นความเคยชิน แต่ในวันนั้นเขามีความตั้งใจว่าจะทำงานในตำแหน่งนี้ 3 ปีเท่านั้น และหลังจากนั้นเขาจะเดินตามหาฝันของเขาด้วยการเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ สักหนึ่งอย่าง

ไม่รู้จะเป็นเพราะโชคชะตาที่กำหนดมาให้เขามีหน้าที่ดูแลรักษาสภาพร่างอาจารย์ใหญ่หรือไม่ เขาเคยตั้งจิตบอกกับอาจารย์ใหญ่ว่า ถ้าอยากให้เขามีโอกาสทำหน้าที่นี้อีกต่อไปก็ขอให้ได้ทำงานในหน้าที่นี้ต่อไป ซึ่งในตอนนั้นทางนิติเวชจุฬาฯเปิดรับ ซึ่งโอกาสที่จะได้เข้าไปเกือบจะ 100% แต่พอผลออกมาเขากลับพลาด นั่นทำให้อิทธิณัฐยอมรับได้ว่า อาจารย์ใหญ่คงอยากให้เขาทำงานในหน้าที่นี้ต่อไป

ทุกครั้งที่เขาต้องไปรับร่างของผู้ที่อุทิศร่างกายเมื่อล่วงลับไปแล้ว สิ่งที่เขาเห็นจนกลายเป็นภาพความประทับใจนั่นคือ เขาได้เห็นความรักของครอบครัวที่มีต่อผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งเขาเองจะอนุญาตให้ญาติของผู้ล่วงลับขับรถตามไปส่งจนที่คณะ และเปิดโอกาสให้ญาติได้อยู่กับผู้เสียชีวิตได้เป็นเวลานานที่สุดเท่าที่จะทำได้

จากหน้าที่การงานที่ต้องทำให้กับผู้ที่ล่วงลับ เป็นอีกสิ่งที่ที่ให้แง่คิดกับอิทธิณัฐได้ว่า เรื่องของการเกิด แก่   เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา ทุกครั้งที่ได้ทำหน้ารักษาสภาพร่างอาจารย์ใหญ่เหมือนกับเป็นการทำงานที่ได้บุญ ซึ่งเหมือนกับเป็นการสร้างกำลังใจให้กับตนเอง และบุญกุศลที่ได้ทำจากหน้าที่นี้ก็อยากจะได้ให้แม่ของตนเองด้วย และได้มีโอกาสช่วยสังคมได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง