ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนงานให้ได้มาตรฐาน ทั้ง 9 ระบบ อาทิ ระบบการจัดการสิ่งปฏิกูล ระบบการจัดการมูลฝอย ระบบการจัดการคุณภาพน้ำบริโภค และระบบการจัดการสุขาภิบาลอาหาร เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การประเมินรับรองคุณภาพตามระบบบริการ อนามัยสิ่งแวดล้อมและกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

วันนี้ (10 มิถุนายน 2557) นพ.พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวการรับรองคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Environmental Health Accreditation :EHA) ณ ห้องประชุมห้องหงส์มังกร ชั้น 12 สำนักงานเทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี ว่า กรมอนามัยร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกันดำเนินงานพัฒนารับรองระบบคุณภาพบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งหมด 9 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบการจัดการสุขาภิบาลอาหาร 2.ระบบการจัดการคุณภาพน้ำบริโภค 3.ระบบการจัดการสิ่งปฏิกูล 4.ระบบการจัดการมูลฝอย 5.ระบบการรองรับภาวะฉุกเฉินและภัยพิบัติ 6.ระบบการจัดการเหตุรำคาญ 7.ระบบการจัดการกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 8.ระบบการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และ9.ระบบการบังคับใช้กฎหมาย โดยมีเทศบาลนครและเทศบาลเมืองทั่วประเทศ ประมาณ 202 เทศบาล สมัครเข้าร่วมการประเมินรับรองจำนวน 181 เทศบาล คิดเป็นร้อยละ 90 ผ่านการประเมินพื้นฐานจำนวน 101 เทศบาล คิดเป็นร้อยละ 50 ผ่านการประเมินดีเยี่ยมจนได้รับเกียรติบัตร จำนวน 51 เทศบาล คิดเป็นร้อยละ 25 ซึ่งระบบที่ผ่านการประเมินมากที่สุด คือ ระบบการจัดการสุขาภิบาลอาหาร รองลงมาเป็นระบบการจัดการมูลฝอยทั่วไป และระบบจัดการสิ่งปฏิกูล ตามลำดับ

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2558 กรมอนามัยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้เทศบาลทุกระดับสมัครเข้ารับการประเมินระบบคุณภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของเทศบาลทั่วประเทศที่มีประมาณ 2,000 กว่าแห่ง ซึ่งกรมอนามัยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ และร่วมกันพัฒนาระบบคุณภาพบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม อาทิ ระบบการจัดการสุขาภิบาลอาหาร โดยต้องมีการรับรองคุณภาพสถานประกอบการด้านอาหาร การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการค้าอาหารและผู้สัมผัสอาหาร การเฝ้าระวังสุขาภิบาลอาหารในสถานประกอบการค้าอาหาร การจัดการเรื่องร้องเรียนด้านสุขาภิบาลอาหาร และการสื่อสารสาธารณะด้านสุขาภิบาลอาหาร ระบบการจัดการมูลฝอยทั่วไป ซึ่งกรมอนามัยได้ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามหลัก 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) การแยกขยะครัวเรือน  หรือการแยกทิ้งขยะ ณ แหล่งกำเนิด 2) การเก็บค่ากำจัดขยะ ตาม พรบ.สาธารณสุขท้องถิ่นสามารถเก็บค่าธรรมเนียมได้เฉพาะค่าเก็บขนเท่านั้น ส่วนค่ากำจัดเก็บไม่ได้ ซึ่งกรมอนามัยกำลังดำเนินการออกกฎหมาย เพื่อให้ท้องถิ่นหรือเทศบาลสามารถเก็บค่าธรรมเนียมการกำจัดขยะได้ 3) ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดการเคลื่อนย้าย   ขยะติดเชื้อ เน้นหลักการบำบัด หรือกำจัดที่แหล่งกำเนิด 4) การสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการจัดการขยะให้ถูกสุขลักษณะ และเข้มงวดการทิ้งและกำจัดขยะอันตรายจากอุตสาหกรรมและบ้านเรือน และ5) สำรวจกองขยะเก่าเพื่อทำสวนสาธารณะ   กรมอนามัยจะเสนอให้เจ้าของหรือท้องถิ่นดำเนินการฝังกลบทำเป็นสวนสาธารณะโดยจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีสั่งการ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพประชาชนในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากระบบ EHA เป็นระบบที่คุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประชาชนตามสิทธิและกฎหมายกำหนด

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า เทศบาลที่สนใจจะเข้าร่วมประเมินรับรอง EHA ทั้ง 9 ระบบของกรมอนามัย สามารถติดต่อขอรับใบสมัครที่ศูนย์อนามัยที่ 1-12 กรมอนามัยทั่วประเทศ ซึ่งสามารถนำหลักเกณฑ์ไปประเมินตนอง นัดหมายทีม ประเมิน (Auditors)จากศูนย์อนามัยมาทำการประเมินปีละ 1 ครั้ง หากผลการประเมินผ่านเกณฑ์คุณภาพ กรมอนามัยจะให้การรับรองและมอบเกียรติบัตรให้เทศบาลเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการยกย่องเทศบาลที่มีการพัฒนาได้ดี ที่เป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชนด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม

“ทั้งนี้ วันที่ 15-17 มิถุนายน 2557 จะมีการจัดงาน Environmental Health Accreditation (EHA) ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ พัทยา จังหวัดชลบุรี ภายในงานจัดให้มีการแสดงนิทรรศการของเทศบาลที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวอย่างที่ผ่านคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อมทั้ง 9 ระบบ รวมทั้งการนำเสนอกลยุทธ์ กลวิธี ของเทศบาลตัวอย่างที่ผ่านการรับรองระบบ EHAขึ้นนำเสนอ และพิธีมอบเกียรติบัตรเทศบาลที่ผ่านการประเมินรับรองขั้นดีเยี่ยม อาทิเช่น เทศบาลนครรังสิต เมืองพัทยา เทศบาลเมืองแสนสุข เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด