ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับโรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม 34 จังหวัด จัดเตรียมแผนความพร้อม 4 ด้าน เช่น การป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาลและอุปกรณ์การแพทย์จำเป็น การขนย้ายผู้ป่วย การจัดบริการในภาวะฉุกเฉิน การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชน โดยได้สำรองยาเวชภัณฑ์ชุดน้ำท่วมไว้ที่ส่วนกลางเบื้องต้น 300,000 ชุด แนะหากประชาชนป่วยฉุกเฉิน ให้โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วนกู้ชีพ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง 

นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุขในการรับมือปัญหาน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ 34 จังหวัด ในวันที่ 10-15 มิถุนายน 2557  ที่มีฝนตกหนัก เสี่ยงเกิดปัญหาน้ำท่วมตามคำเตือนของกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย ว่าได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง  โรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับ ให้เตรียมความพร้อมโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง 34 จังหวัด ใน 4 ด้าน ดังต่อไปนี้ 1. ให้สำรวจและเตรียมความพร้อมในการป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาล  สำรวจความปลอดภัยของคลังยาเวชภัณฑ์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ถังออกซิเจนเหลว ให้อยู่ในที่ปลอดภัย 2. เตรียมแผนบริการในภาวะน้ำท่วมฉุกเฉิน เช่น แผนขนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วย และ แผนการจัดบริการตรวจรักษานอกโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากที่สุด 3. ให้เตรียมหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอดเวลา และ 4. ให้สำรวจกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับอันตรายจากน้ำท่วม ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงหลังคลอดบุตร หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัยเป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้หากประชาชนทุกพื้นที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วนกู้ชีพ 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังให้แต่ละจังหวัดให้ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัวและต้องกินยาต่อเนื่อง ให้เก็บยาไว้ใกล้ตัว หากมีเหตุฉุกเฉินจะสามารถนำพกติดตัวไปได้ง่าย  พร้อมกันนี้ได้ให้ส่วนกลางสำรองยาชุดน้ำท่วมเบื้องต้นจำนวน 300,000 ชุด เพื่อสนับสนุนจังหวัดในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชน

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม ขอให้ประชาชนอย่าทิ้งขยะ หรือถ่ายอุจจาระ ทิ้งเศษอาหารลงในน้ำ ขอให้ใส่ถุงดำและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อนำไปกำจัดให้ถูกวิธี ป้องกันเชื้อแพร่กระจายลงน้ำและภายหลังจากลุยน้ำ ขอให้รีบล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง  รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาด  ใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอและเก็บบ้านเรือนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อป้องกัน สัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ งู เข้าไปอาศัย

สำหรับ 34 จังหวัดที่เสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกหนัก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง