ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ยังดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร ภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 20 ปีการศึกษา 2550-2551 เขาได้ทำงานวิจัยเรื่อง"การปรับบทบาทของกองทัพไทย เพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่" และเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือชื่อ “กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ Non-Traditional Threats

งานวิจัยชิ้นนี้ พล.อ.ประยุทธ์  ได้แบ่งภัยคุกคามรูปแบบใหม่ไว้ 7 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.ความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.การก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ 3.ยาเสพติด 4.แรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมือง 5.ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมของธรรมชาติและโรคระบาด 6.การขาดดุลของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 7.ความยากจน

สำหรับภัยกลุ่มที่ 1-4 พล.อ.ประยุทธ์  จัดให้เป็นภัยเร่งด่วนและเฉพาะหน้าหรือระยะสั้น ที่สังคมควรรับรู้ว่าจะเป็นภัยที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงต่อสังคมไทยโดยส่วนรวม

ปัจจุบัน เขาก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดของกองทัพ และกลายเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบ (คสช.) อีก 1 ตำแหน่ง หลังการทำรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557

ผ่านไป 3 สัปดาห์แห่งการกุมอำนาจบริหารเต็มตัว เมื่อจับสัญญาณและคีย์เวิร์ดของ พล.อ.ประยุทธ์ ทางด้านนโยบายแรงงานต่างด้าว ค่อนข้างชัดเจนว่างานนี้ priority หลัก อยู่ที่มิติด้าน"ความมั่นคง"

"...ให้มีการกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งเสริมโรงงานขนาดเล็กตามแนวชายแดนและชนบท หรือช่องทางผ่านแดนที่สำคัญ เพื่อให้แรงงานที่ผิดกฎหมายไม่เข้ามาหางานในพื้นที่ตอนใน  ลดความแออัดของพี่น้องประชาชนไทยที่ต้องเข้ามาหางานในเมืองใหญ่ให้มากที่สุด" นี่คือคำพูดระหว่างการแถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงโรดแม็ปการเปลี่ยนประเทศไปสู่ประชาธิปไตย วันที่ 30 พ.ค. 2557

"…ในส่วนของแรงงานนั้นหรือโรงงานแนวชายแดนนั้นมีความจำเป็น เพราะไม่งั้นถ้าไม่มีโรงงานชายแดน ไม่มีการสร้างงานในพื้นที่ชนบท คนก็จะเข้ามา ในกรุงเทพก็จะแออัด และมีการกระทำความผิดกฎหมายมากขึ้น ยาเสพติด  แรงงานต่างด้าว หรือการลักขโมยในพื้นที่เมืองใหญ่ ๆ ก็จะเกิดขึ้น เป็นปัญหาด้านความมั่นคงในระยะสั้นและระยะยาว"นี่คือคำพูดระหว่างออกรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" วันที่ 6 มิ.ย. 2557

ถัดมา 1 วัน พล.อ.ประยุทธ์ ก็แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยมีตัวเองเป็นประธานกรรมการ

หลังจากนั้น วันที่ 10 มิ.ย. 2557 ก็มีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 59 แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.)  โดยมีตัวเองเป็นประธาน ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง และนายทหารฝ่ายความมั่นคงเป็นกรรมการ คณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่เสนอแนะนโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบต่อ คสช. ตลอดจนกำกับดูแล ติดตามผลการดำเนินการตามนโยบายการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ให้ความเห็นชอบแผนงาน โครงการ ทบทวนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 60 เรื่องแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว มีเสนาธิการทหาร เป็นประธานอนุกรรมการ ข้าราชการระดับอธิบดี และหน่วยงานความมั่นคง ทำหน้าที่ช่วยงาน กนร.อีกต่อหนึ่ง

งานนี้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ทั้งการเข้าไปนั่งหัวโต๊ะ ทั้งพิจารณาการลงทุนตั้งโรงงานตามแนวชายแดน และการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

แรงงานชาวกัมพูชารอขึ้นรถที่จ.สุรินทร์ เพื่อเดินทางไปอ.อรัญประเทศ ก่อนกลับประเทศกัมพูชา หลังนายจ้างบอกเลิกจ้างเพราะกลัวมีความผิดตามประกาศคสช. (ขอบคุณภาพจากเวบไซต์ไทยรัฐ)

ถัดไปเพียง 1 วัน เฉพาะวันที่ 11 มิ.ย. 2557 วันเดียว ก็เริ่มมีปรากฎการณ์การกวาดล้างแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายในหลายพื้นที่ เช่น จ.เชียงใหม่ ทหารและตำรวจ สนธิกำลังออกกวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวที่ไม่ใบอนุญาตออกนอกเขตพื้นที่ ตามสถานที่ต่างๆ ตลอดจนรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำคลองแม่ข่า ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ซึ่งเป็นแหล่งพักอาศัยของคนต่างด้าวด้วย

ที่ จ.สุรินทร์ ตำรวจเข้ากวาดล้างกลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมายบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารสุรินทร์ ตรวจพบแรงงานกัมพูชา 122 คน หลบซ่อนอยู่ในรถโดยสารและตามชานชาลา ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ถูกนายจ้างเลิกจ้างเพราะกลัว คสช. เอาผิด

ที่ จ.สมุทรสาคร ตำรวจน้ำเข้าตรวจเรือ 4 ลำ บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน พบแรงงานชาวพม่าไม่มีใบอนุญาตทำงาน 70 ราย หรือที่ จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมแรงงานกัมพูชา 222 คน ที่หลบซ่อนอยู่ในพงหญ้าริมถนนสายหนองจอก-บางน้ำเปรี้ยว จากการสืบสวนก็ทราบว่าแรงงานกลุ่มนี้ถูกนายจ้างลอยแพเพราะกลัว คสช.เอาผิดเช่นกัน

ขณะที่ ในส่วนของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ก็ส่งหนังสือเวียนถึงสำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด ให้สำรวจแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่อยู่เข้ามาที่ส่วนกลาง แม้ไม่ได้บอกตรงๆว่าให้แจ้งเพื่ออะไร แต่หากดูจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นก็คงไม่น่าแปลกใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

ด้าน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง คณะทำงานโฆษก คสช. ก็ระบุว่า การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวนั้น หากตรวจสอบพบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการส่งตัวกลับ  เพราะ คสช.ต้องการจัดระเบียบสังคมการค้าแนวชายแดน ส่วนรูปแบบการจัดโซนแรงงานต่างด้าว คณะกรรมการต้องหารือร่วมกันก่อน โดยจะเริ่มทำในพื้นที่เล็กๆก่อน

อย่างไรก็ตาม มาตรการลักษณะนี้ ในมุมมองของเอ็นจีโอด้านแรงงาน กลับมองด้วยสายตาที่ห่วงใย เพราะเคยเห็นการเดินนโยบายลักษณะนี้มาหลายครั้ง ทั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือแม้แต่การปฏิวัติปี 2549 ก็มีการดำเนินการแบบนี้

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มองว่าเมื่อทหารมานั่งหัวโต๊ะแบบนี้ ก็เห็นทิศทางชัดเจนว่าเน้นไปที่เรื่องความมั่นคง เป็นการแสดงนัยยะว่าต้องการปราบ จึงเกิดปรากฎการณ์แรงงานต่างด้าวแห่กลับประเทศ หรือถูกนายจ้างลอยแพ

เธอย้อนกลับไปฉายให้เห็นภาพที่เกิดขึ้นในปี 2549 รัฐบาลขณะนั้นก็ใช้วิธีลักษณะนี้ มีมาตรการให้แรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์จะต้องกลับไปคลอดบุตรในประเทศบ้านเกิด ไม่อนุญาตให้คลอดในประเทศไทย รวมถึงห้ามเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ทำให้เกิดเหตุการณ์แรงงานบางคนทำแท้งด้วยตัวเองด้วยไม้เสียบลูกชิ้นจนตกเลือด

ขณะเดียวกัน ก็มีมาตรการควบคุมแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ระนอง ระยอง พังงา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี มีการห้ามออกจากที่พักหลัง 4 ทุ่ม ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ ห้ามรวมกลุ่มเกิน 5 คน ห้ามขับรถ แม้กระทั่งห้ามกระทำกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมหรือศาสนาของตนเอง

แต่หลังจากนั้น ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็ยังไม่ได้หายไปจากเมืองไทยตลอดมาจนทุกวันนี้

“มีตรรกะว่าถ้าผิดก็ออกไป แต่มันมีบทเรียนมาแล้วหลายครั้งว่าการใช้เรื่องความมั่นคงมานำ มันแก้ปัญหาไม่ได้ มันก็ยังมีแรงงานที่หลบๆซ่อนๆอยู่  ที่สุดนายจ้างก็จะเริ่มกดดันขอให้เปิดช่อง ปัญหาก็วนมาแบบเดิมอีก แล้วพวกที่อยู่แบบหลบๆซ่อนๆก็จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิ์มากขึ้น”

เธอขยายความว่า การหลบๆซ่อนๆ ของแรงงานข้ามชาติ ย่อมมาพร้อมกับการเรียกรับสินบน การคอรัปชั่นในพื้นที่ การรีดไถ การแสวงหาประโยชน์จากแรงงานที่ไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้ รวมถึงการทวีคูณของเหยื่อในกระบวนการค้ามนุษย์

ยังไม่นับเรื่องที่ไม่สามารถเข้าไปใช้บริการสาธารณสุขจนยากต่อการเฝ้าระวังและป้องกันโรคติดต่อ หรือปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งตัวแรงงานไม่สามารถเข้าถึงกลไกการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่น ไม่สามารถแจ้งความ หรือเป็นพยานในชั้นศาลได้ เป็นต้น

บุษยรัตน์ มองว่าแนวทางการจัดการแรงงานต่างด้าวก่อนเกิดรัฐประหาร ถือว่าประเทศไทยมาถูกทางแล้ว เราเจอปัญหานี้จนมีองค์ความรู้ มีหน่วยงานขับเคลื่อนการขึ้นทะเบียน พิสูจน์สัญชาติ อย่างเป็นระบบ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขก็มีนโยบายขายประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวโดยไม่สนใจว่าจะเข้าเมืองอย่างถูกหรือผิดกฎหมายเป็นต้น

การกลับไปใช้นโยบายกวาดล้างผลักดันกลับประเทศ เธอจึงมองว่าเป็นการก้าวถอยหลังมากกว่าเดินไปข้างหน้า และวันหนึ่งปัญหาเดิมๆก็จะกลับมาอยู่ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สึนามิ 2 ลูกซัดภาพลักษณ์ “ไทย” พัง กวาดล้างต่างด้าว-แรงงานทาสฉาวทั่วโลก

ไฟลามทุ่งแรงงานต่างด้าว หนีตาย 7 หมื่น -1.1 แสนราย จับตาคลื่นลมสงบ ‘นายหน้า’ ปากมัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง