ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การมีระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยนับเป็นความก้าวหน้าของการจัดสวัสดิการโดยรัฐ ที่ดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนทุกคน นับเป็นแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐที่ใช้ระบบภาษีมาจัดบริการรักษาพยาบาล เพื่อลดการล้มละลายทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชน นี่ไม่ใช่นโยบายประชานิยมแต่เป็นการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการดูแลรักษาประชาชนยามป่วยไข้โดยทั่วถึงกัน ดำเนินการมามากกว่า 10 ปีแล้ว

กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี พ.ศ.2545 รองรับการดำเนินการโดยจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระภายใต้กำกับของรัฐ ชื่อว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารการเงินการคลังในการจัดหาบริการสาธารณสุขให้ประชาชนกว่า 48 ล้านคน ที่ถือบัตรทองไปรับบริการจากโรงพยาบาลของรัฐภายใต้กำกับของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลของกองทัพ ฯลฯ

การมีระบบหลักประกันสุขภาพ นับเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ แยกบทบาทหน้าที่การสร้างหลักประกันโดยการซื้อบริการสุขภาพ ออกจากการจัดบริการ รวมถึงการจัดสร้างโรงพยาบาล การบริหารโรงพยาบาลทั่วประเทศ นั่นคือการแยกบทบาทระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณ การกระจายทรัพยากรเป็นไปตามสถานการณ์ในพื้นที่ ตามจำนวนประชากรในพื้นที่ ไม่ใช่เป็นไปตามขนาดโรงพยาบาลหรือความต้องการของคนใดคนหนึ่งที่มีอำนาจในการจัดสร้างโรงพยาบาล การโยกย้าย การบรรจุแต่งตั้งหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ เปลี่ยนระบบการจ่ายเงินตรงไปที่โรงพยาบาลในระดับต่างๆ ไม่ใช่จ่ายล่ำซำให้กระทรวงแล้วกระทรวงไปจัดสรรเอง

อย่างไรก็ตามระบบนี้แม้จะมี 2 หน่วยงานใหญ่แยกกัน แต่กฎหมายก็ให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขดำรงตำแหน่งในทั้ง 2 หน่วยงานคือว่าการกระทรวงสาธารณสุขและเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพียงแต่ในตำแหน่งประธานบอร์ดไม่ได้มีอำนาจตรงสั่งการไปยัง สปสช.ได้ ทุกอย่างต้องผ่านมติบอร์ด ต่างกับในกระทรวงที่รัฐมนตรีสั่งการให้คุณให้โทษได้ทั้งกระทรวง

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพมีการกระจายทรัพยากรไปยังพื้นที่ที่ยากลำบากแต่มีจำนวนประชากรมาก เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ ทำให้โรงพยาบาลในภูมิภาคมีงบประมาณเพิ่มมากขึ้น พัฒนาระบบการดูแลรักษาได้มากขึ้นทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ทั่วถึงโดยไม่ต้องจ่ายเงินที่หน่วยบริการ เหล่านี้ทำให้ไม่ว่าคนจน คนรวยก็เข้าถึงบริการได้เสมอกัน นี่เป็นความสุขที่ประชาชนได้รับจากผลพวงการปฏิรูประบบสุขภาพให้เป็นระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคน

การลดอำนาจแบบชี้เป็นชี้ตายในระบบราชการแบบกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้ผู้มีอำนาจเดิมในระบบสุขภาพเกิดความสั่นคลอน ขาดสภาพคล่องในการบริหารเงินและลดอำนาจการบริหารระบบสุขภาพของประเทศ เป็นเหตุให้อำนาจเดิมหลายฝ่ายพยายามดึงการบริหารโดยเฉพาะการจัดการงบประมาณกลับไปไว้ใน สธ.เหมือนเดิม ซึ่งเท่ากับเป็นการถอยหลังเข้าคลองและดำดิ่งสู่ระบบแพทย์อุปถัมภ์ที่สามารถชี้เป็นชี้ตายและลดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

เห็นได้จากปรากฏการที่ สธ.เปิดแนวรบกับสปสช.สั่งการให้หน่วยงานภายใต้ สธ.ไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งก็มีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่อยู่ภายใต้การบริหารในกระทรวงฯ โดยตรงต่างพากันหยุดดำเนินการใดใดที่จะร่วมงานกับ สปสช. ไม่นับรวมกลยุทธ์ที่เริ่มมีการส่งสัญญานประปรายมาจากผู้มีอำนาจใน สธ.เอง เช่นการเริ่มมีแนวทางที่จะงดการใช้ระบบข้อมูลในการให้บริการของโรงพยาบาลโดยการสั่งการไม่ให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคีย์ข้อมูลสำคัญตามระบบที่เคยใช้ร่วมกัน แนวทางเช่นนี้ถือว่าเป็นการใช้ประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองในการช่วงชิงอำนาจเดิมให้กลับมา

ในสถานการณ์รัฐประหารภายใต้การกำกับประเทศโดย คสช.ที่กล่าวย้ำเตือนทุกวันว่านี่เป็นการเข้ามาสร้างความสงบ และเพื่อก้าวกระโดดไปสู่การปฏิรูปประเทศพร้อมกับคืนความสุขให้กับประชาชน ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นความสุขของประชาชนที่จับต้องได้อย่างแท้จริงและพิสูจน์ได้ว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้การใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจหรือมีช่องทางให้เกิดการคอรัปชั่นมโหฬารเฉกเช่นบทเรียนการทุจริตยาที่เราเคยเผชิญมาก่อนหน้านี้ แต่เป็นการคุ้มครองให้ทุกคนมีหลักประกันยามเจ็บป่วยที่ไม่ต้องล้มละลายจากการรักษาพยาบาล

สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการรับฟังแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพ-ระบบสาธารณสุขจากฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังให้รอบด้านอาจทำให้ตกหลุมพรางของการช่วงชิงอำนาจ แทนที่จะปฏิรูปและคืนความสุขให้ประชาชนกลับกลายเป็นทำให้ความสุขนั้นหายไปโดยพลันได้ เพราะการปฏิรูปต้องมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะต้องฟังเสียงประชาชนด้วยไม่ใช่ฟังแต่ข้าราชการด้านเดียว

ระบบหลักประกันสุขภาพเดินหน้ามาไกลมากแล้วถือเป็นความก้าวหน้ามากที่สุดในอาเซียน สิ่งที่ควรปฏิรูปต่อไปมากกว่าคือการลดทอนระบบอุปถัมภ์ใน สธ. การเดินหน้าให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งในพื้นที่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง การพัฒนาให้สามารถใช้งบประมาณตามรายหัวประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การระดมทรัพยากรในท้องถิ่น การปฏิรูปให้โรงพยาบาลออกนอกระบบเป็นองค์การมหาชน เฉกเช่นที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วสามารถดำเนินการมาได้และประชาชนพึงพอใจ

ส่วนกระทรวงสาธารณสุขควรต้องทำหน้าที่ด้านวิชาการให้เข้มแข็ง พัฒนาระบบควบคุมคุณภาพบริการ ดำเนินการควบคุมโรค ลดการรวมศูนย์อำนาจ และการปฏิรูปกระทรวงฯควรต้องมีมากกว่าแค่การขอให้กระทรวงฯ ไม่อยู่ภายใต้แนวทางการบริหารระบบข้าราชการพลเรือน (กพ.) การขอให้มีการบริหารบุคลากรแบบสาธารณสุขเอง เป็นเพียงการปฏิรูปข้างในเพื่อคนขางในเพื่อให้ได้เสียงจากคนกันเอง เหล่านี้ย่อมไม่ใช่การปฏิรูปอย่างแท้จริง