ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -กรมอนามัยชูแผนจัดการขยะระดับชาติ นำร่องเทศบาล 2,000 แห่งทั่วประเทศ จัดการขยะให้ถูกสุขลักษณะ เรียกเก็บค่าบำบัดขยะ

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมอนามัยมีแผนขับเคลื่อนการจัดการขยะระดับชาติ โดยเตรียมเสนอให้แก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อดำเนินการอย่างเป็นระบบทั้งประเทศ โดยในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการการสาธารณสุข ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมอนามัยเป็นเลขานุการ ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับการจัดการขยะอันใหม่ 2 เรื่อง คือ 1.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอย พ.ศ.... และ 2.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการขยะมูลฝอยทั่วไป พ.ศ... ซึ่งกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมในที่นี้ คือ การเก็บค่าบำบัดขยะ จากปัจจุบันจะมีเพียงค่าขนส่งขยะเท่านั้น ซึ่งเก็บไม่เกิน 70 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน โดยเทศบาลหรือพื้นที่แต่ละแห่งจะเรียกเก็บประมาณ 30-40 บาทต่อครัวเรือน แต่ไม่มีการเก็บค่าบำบัดขยะ ทำให้ที่ผ่านมามีแต่การขนส่งขยะ แต่ไม่มีรูปแบบการจัดการขยะที่ถูกสุขลักษณะ บางแห่งอาจมีการนำไปกองทิ้งไว้จนเกิดปัญหาตามมา เหมือนกรณีบ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการ

"ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมฯ จึงเป็นกฎกระทรวงที่จะใช้เป็นข้อบังคับให้ทุกเทศบาลได้ดำเนินการอย่างถูกวิธี นอกจากแค่การขนขยะเท่านั้น โดยค่าธรรมเนียมการบำบัดขยะเบื้องต้นกำหนดว่า ครัวเรือนใดมีขยะเกิน 4-5 กิโลกรัมต่อวัน จะต้องจ่ายค่าบำบัดขยะครัวเรือนละไม่เกิน 150 บาทต่อเดือน ซึ่งอัตราดังกล่าวเป็นเพดานขั้นสูง แต่ละพื้นที่อาจเรียกเก็บไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการบริหาร โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะบังคับใช้คู่กับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการขยะมูลฝอยทั่วไป กล่าวคือ เมื่อมีการเก็บค่าบำบัดขยะแล้ว ผู้เก็บหรือเทศบาลนั้นๆ จะต้องนำขยะไปจัดการอย่างถูกสุขลักษณะตามกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งอ้างอิงตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยหากท้องถิ่นนั้นไม่ดำเนินการจะมีโทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และยังผิดฐานไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง มีโทษปรับ 10,000 บาท" นพ.พรเทพกล่าว และเสริมว่า โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะเสนอต่อคณะกรรมการการสาธารณสุข ในการพิจารณาเบื้องต้น ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมฯ ได้ผ่านคณะอนุกรรมการการศึกษาเรื่องนี้แล้ว เหลือแค่คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาเห็นชอบ จากนั้นก็พร้อมจะเสนอ คสช.เพื่อมีคำสั่งประกาศอย่างเป็นทางการให้เทศบาลกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศดำเนินการได้ทันที ก่อนจะขยายไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ต่อไป

นพ.พรเทพกล่าวอีกว่า หากมีการดำเนินการดังกล่าว การจัดการขยะจะเป็นผลมากขึ้น และเชื่อว่าจะลดปริมาณขยะลงได้ จากปัจจุบันประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นประมาณ 41,532 ตันต่อวัน หรือกว่า 15 ล้านตันต่อปี โดยเป็นขยะที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครประมาณ 8,766 ตัน อย่างไรก็ตาม การจัดการขยะดังกล่าวนอกจากจะทำให้การขนย้าย บำบัด และกำจัดขยะเป็นไปอย่างถูกวิธีแล้ว จริงๆ ยังช่วยในแง่ของการสร้างความตระหนักในการคัดแยกขยะในครัวเรือนอีกด้วย เนื่องจากเมื่อมีกฎหมายออกมาว่า หากครัวเรือนใดมีขยะเกิน 4-5 กิโลกรัม จะต้องจ่ายค่าบำบัดขยะเพิ่มเติม ทำให้แต่ละครัวเรือนรู้จักแยกขยะอย่างถูกวิธี โดยแบ่งเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะอันตราย หากมีการคัดแยกขยะที่ดีจะทำให้ปริมาณขยะลดลงไปด้วย อย่างขยะเปียก หากรู้จักนำมาหมักเพื่อเป็นน้ำหมักชีวภาพจะมีประโยชน์ใช้ในครัวเรือน ทั้งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ กำจัดกลิ่นท่อ เป็นต้น ตรงนี้กรมอนามัยจะมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะในแต่ละท้องถิ่น ผ่านการทำงานร่วมกับเทศบาลต่างๆ ที่ผ่านมามีการทำงานลักษณะนี้อยู่แล้ว

นายคฑาวุธ อาสาชัย ประชาชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าเมื่อมีการปรับค่าเก็บขยะจริงแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะสามารถรู้ได้อย่างไรว่า บ้านแต่ละหลังมีการทิ้งขยะอยู่ที่กี่กิโลกรัมต่อเดือน หากเทียบกับโรงงานหรืออุตสาหกรรมในครัวเรือนที่จะต้องมีปริมาณขยะในแต่ละวันมากกว่าบ้านเรือนประชาชนทั่วไป แต่เก็บค่าขยะเท่ากันนั้นสมควรหรือไม่ คิดว่าเป็นราคาที่แพงเกินไป แต่หากทางเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานในเรื่องการเก็บขยะ เช่น การเก็บขยะควรที่จะมาเก็บอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เก็บวันเว้นวัน จนทำให้ขยะล้นถังส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง ควรดูแลถังที่ทิ้งขยะส่วนรวมให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งานไม่ส่งกลิ่นเหม็น อีกทั้งจะต้องมีมาตรการในการดูแลความสะอาดตามบริเวณที่ทิ้งขยะอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ทุกคนน่าจะยอมรับได้กับการที่ปรับราคาค่าเก็บขยะ

น.ส.สิริญา อรุณใหม่ ประชาชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา กล่าวว่า การที่จะมีการเสนอให้มีการปรับราคาค่าเก็บขยะเป็น 100-150 บาท คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากระบบการจัดการขยะของไทยจะได้มีประสิทธิภาพเหมือนต่างประเทศ อีกทั้งสวัสดิการเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เก็บขยะกับรถเก็บขยะจะได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องปรับให้มีคุณภาพในการเก็บขยะมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ประชาชนพอใจกับจำนวนเงินค่าเก็บขยะเพิ่มขึ้นแล้วบ้านเมืองสะอาด แต่หากเก็บค่าเก็บขยะเพิ่มไปแล้ว ประสิทธิภาพการเก็บขยะและการดูแลความสะอาดยังไม่ดีขึ้นคิดว่าไม่ควรที่จะเก็บเพิ่ม

--มติชน ฉบับวันที่ 16 มิ.ย. 2557 (กรอบบ่าย)--