ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมัชชาสุขภาพ เสนอ 5 แนวทางปฏิรูประบบสุขภาพภายใต้ปฏิรูปประเทศ ปฏิรูประบบสร้างสุขภาพป้องกันโรค บริการสุขภาพ กำลังคน การเงินการคลัง และการอภิบาลระบบเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะ ด้านประธาน คจ.สช.มั่นใจเวที สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 ยกระดับสุขภาวะให้ประชาชนและชุมชนอย่างยั่งยืน พร้อมกิจกรรมมอบรางวัลสมัชชาสุขภาพฯ และเปิดตัวหนังสือใหม่รีวิวสุขภาพคนไทย

ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 6 พ.ศ.2556b เปิดเผยว่า การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ มีขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน 2557 ถือเป็นเวทีสำคัญที่สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพของประเทศ โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 2,000 คน

"เวทีประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งนี้ จะมีการขับเคลื่อนวาระการประชุมที่สำคัญ 10 ประเด็น ให้เกิดฉันทามติที่สมบูรณ์ นำไปสู่การขับเคลื่อนจนเกิดเป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมติไปปฏิบัติ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน"

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการภายใต้แนวคิด “สานพลัง สร้างสุขภาวะชุมชน" มีการจัดประชุม   ไปแล้ว 5 ครั้ง ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายได้ทั้งหมด 51 เรื่อง ซึ่งในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 นี้ มีระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณา 10 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติ ว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชน 2.แผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ.2557-2561 3.ระบบการจัดการอาหารในโรงเรียน 4.นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน 5.การกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6.เป้าหมายในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย 7.การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อ “สุขภาพหนึ่งเดียว" ของคน-สัตว์-สิ่งแวดล้อม 8.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาวะและสังคมจากการค้าเสรีระหว่างประเทศ 9.รายงานความก้าวหน้าในการติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ 10.การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย

ดร.ศิรินา กล่าวว่า กิจกรรมในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ยังมีการมอบ “รางวัลสมัชชาสุขภาพฯ" ให้แก่ภาคีเครือข่ายที่นำแนวทางตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ไปใช้จนประสบความสำเร็จ  พร้อมการเปิดตัวหนังสือใหม่ “รายงานสุขภาพคนไทย 2557" และหนังสือ "รอยเหมือง ประวัติศาสตร์เหมืองแร่ประเทศไทย" การปาฐกถาพิเศษ ของ นพ.วิชัย โชควิวัฒน และพะโฉะ สิรินิพนธ์ เครือข่ายหมอปฏิวัติลุ่มน้ำแม่จัน จังหวัดตาก เป็นต้น

ขณะที่วาระสำคัญเรื่อง การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันมีข้อเสนอ 5 แนวทาง

1.การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการจัดการกับภัยคุกคามสุขภาพ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน นำหลักการเรื่องสุขภาพในทุกนโยบาย (Health in All Policies) มาแปลงสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผล รวมทั้งพัฒนาระบบงานและองค์กรที่ทำงานด้านระบาดวิทยา ทั้งด้านการป้องกัน ควบคุมโรค และระบาดวิทยาสังคม (Social Epidemiology) และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพนอกภาคบริการสาธารณสุข เป็นต้น

2.การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ทั้งระบบสุขภาพชุมชนและระบบบริการสุขภาพแบบผสมผสารในระดับอำเภอ (District Health System) ควบคู่กับการส่งเสริมเวชปฏิบัติระดับครอบครัวและชุมชน จัดให้มีการวางแผนระบบบริการสุขภาพ (Health Service Plan) ของประเทศ ที่ครอบคลุมการบริการสุขภาพในทุกระดับ ระบบบริการเฉพาะทาง ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบการส่งต่อและส่งกลับผู้รับบริการ รวมถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย พร้อมทบทวนนโยบาย medical Hub ในภูมิภาคเอเชีย ให้เกิดความเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อคนไทย นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก

3.การปฏิรูประบบการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการวางแผนผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพสาขาต่างๆ ทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และการกระจายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการให้บริการ และความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพ รวมทั้งส่งเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมทางวิชาชีพ และพัฒนาระบบการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ พัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิผู้ที่ได้รับผลกระทยที่ไม่พึงประสงค์จากบริการสุขภาพ และสนับสนุนบทบาทและพัฒนาศักยภาพของคนพิการ ผู้สูงอายุ และบุคคลด้อยโอกาสต่างๆให้มีส่วนร่วมในการจัดบริการสุขภาพ

4.การปฏิรูประบบการเงินการคลังและระบบหลักประกันสุขภาพ เน้นการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และจัดการกับภัยคุกคามสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพต่างๆให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดนโยบายดำเนินการที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และให้เกิดสิทธิเสมอภาคในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมถึงหลักประกันสุขภาพทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย โดยใช้ทั้งหลักการมนุษยธรรมและการร่วมจ่ายเงิน ภายใต้ระบบประกันสุขภาพเสริม เพื่อความยั่งยื่นทางการเงินการคลัง พร้อมปรับปรุงการบริการจัดการกองทุน ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ปรสบภัยจากรถ และพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฯ เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับกองทุนสุขภาพอื่น

5.การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับการอภิบาลระบบบสุขภาพโดยเครือข่าย ตามพ.รบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และพ.ร.บ.อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส บูรณาการการทำงานของส่วนต่างๆในระบบสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ลดการรวมศูนย์การอภิบาลระบบสุขภาพโดยรัฐ กระจายอำนาจและทรัพยากรให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในการสร้างเสริมสุขภาพ ปรับปรุงสถานบริการของรัฐให้บริการอย่างคล่องแคล่วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบริการประชาชน