ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจงมีโปรแกรมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เท่านั้นที่ สปสช.ให้ รพ.สต.บันทึก ส่วนโปรแกรมคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นของกรมการแพทย์ที่ สปสช.ใช้ข้อมูลร่วม และข้อมูล 21 แฟ้ม เป็นข้อมูลบริการของ สธ. เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนการทำงาน ที่ สปสช.นำมาใช้จัดสรรงบ ไม่ใช่บันทึกข้อมูลแลกเงิน แต่เป็นฐานข้อมูลระบบสาธารณสุขประเทศ ซึ่งเป็นหลักการ P4P ที่สธ.ใช้ ย้ำเข้าใจและตระหนักดีถึงภารกิจที่หมออนามัยแบกรับ เชื่อการออกแบบระบบใหม่ของ สธ.ในการปฏิรูปจะแก้ไขสถานการณ์นี้ได้

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สปสช.มีการให้หน่วยบริการสาธารณสุขบันทึกข้อมูลตามโปรแกรมเฉพาะของ สปสช. 1 โปรแกรม คือ โปรแกรมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปี 2557 นี้ มีระยะเวลาการรณรงค์ตั้งแต่ 1 พ.ค.-31 ก.ค. แต่สามารถเข้ารับการฉีดได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย. และหน่วยบริการสามารถบันทึกข้อมูลมาได้จนถึง 31 พ.ย. ทั้งนี้การฉีดวัคซีนหวัดใหญ่จะทำในโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)ขึ้นไปเพื่อความปลอดภัยของประชาชนหากเกิดภาวะแทรกซ้อน แต่บางพื้นที่มีการฉีดวัคซีนเชิงรุกเชิงรุกไปที่ รพ.สต. ที่มีแพทย์หมุนเวียน รพช. จึงให้ รพ.สต. บันทึก ซึ่งที่ผ่านมามีการบันทึกข้อมูลฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในรพ.สต. ประมาณร้อยละ 17 ที่เหลือเป็นหน่วยบริการในระดับอื่น

ส่วนโปรแกรมบันทึกข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆที่ สปสช.ใช้ข้อมูลร่วม 1 โปรแกรม คือ โปรแกรมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ของสถาบันมะเร็ง กรมการแพทย์ ส่วนการบันทึกข้อมูลบริการผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยในเพื่อจัดทำข้อมูล 21 แฟ้มนั้น เป็นโปรแกรมที่ สธ.ดำเนินการอยู่แล้ว สปสช.เพียงขอใช้ฐานข้อมูลตรงนี้มาจัดทำแผนการจัดสรรงบประมาณเท่านั้นเอง

โฆษก สปสช. กล่าวต่อว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ข้อมูลการให้บริการสุขภาพประชาชนนั้น เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญระดับประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข ตั้งแต่การวางแผนงบประมาณ การจัดบริการ การจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ซึ่ง สปสช.เองก็เข้าใจและตระหนักดีถึงภาระหน้าที่ของบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข และเชื่อว่า หากมีการออกแบบระบบการบริหารจัดการที่ สธ.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็จะช่วยแก้ไขสถานการณ์นี้ได้ เพื่อให้หมออนามัยได้ทำหน้าที่บริการสาธารณสุขปฐมภูมิได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“ต้องเรียนชี้แจงว่า สปสช.นั้นทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ในการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชนด้านการรักษาพยาบาล คือ เมื่อเจ็บป่วยไม่ต้องล้มละลายจากการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล และต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพตามความจำเป็น ซึ่งงบประมาณที่ใช้ดำเนินการเป็นภาษีของประชาชน ดังนั้นการใช้จ่ายเงินจึงต้องยึดหลักการจ่ายตามผลการปฏิบัติงานหรือ P4P ซึ่ง สปสช.พยายามดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของ สธ.ที่ใช้ในการปฏิรูป ไม่ได้เป็นเรื่องของการบันทึกข้อมูลเพื่อแลกเงินอย่างแน่นอน แต่เป็นเรื่องของการจัดสรรเงินตามฐานข้อมูล ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนนั่นเอง”ทพ.อรรถพร กล่าว

ทั้งนี้ แหล่งข่าวรายหนึ่งเปิดเผยว่า ภาระงานที่น่าจะเป็นปัญหาในระดับ รพ.สต. คือ การบันทึกข้อมูลการคัดกรอง NCD หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ที่ สธ.กำหนด ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลเป็นจำนวนมากตามเป้าหมายของหน่วยบริการ ได้แก่ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่ป่วยด้วยความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ซึ่ง รพ.สต.ต้องบันทึกให้ได้ตามตัวชี้วัดคือ มากกว่าร้อยละ 85 และบางแห่งก็มีกลุ่มเป้าหมายมากกว่าหมื่นราย ทำให้ต้องเร่งบันทึกในเวลาที่จำกัด นอกจากนั้นยังมีการบันทึกข้อมูลการรณรงค์การให้วัคซีน เช่น คอตีบไอกรน โปลิโอ ที่สธ.จัดให้มีการรณรงค์ และการบันทึกข้อมูลการเฝ้าระวังทางโภชนาการของสธ. ที่มีจำนวนเป้าหมายการบันทึกมากเช่นกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รพ.สต.พ้อ บันทึกข้อมูลสุขภาพแลกเงินสปสช. จนไม่มีเวลาเยี่ยมชาวบ้าน

ชี้งานคีย์ข้อมูลหมออนามัย แยกยากเป็นของใคร เหตุต้องส่งทั้งสธ.-สปสช.

ผ่าประเด็นร้อน “ภาระงานและระบบข้อมูล” รพ.สต./หมออนามัย