ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถานการณ์เกี่ยวกับนโยบายแรงงานต่างด้าวในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะฝุ่นตลบ โดยเฉพาะปรากฏการแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาที่หลั่งไหลกลับประเทศนับแสนคน

หากไล่เรียงพัฒนาการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คล้ายกับประวัติศาสตร์ในรอบ 10 ปีกำลังซ้ำรอยเดิม แต่ย่นย่อเวลาให้สั้นลงเหลือแค่ 1 อาทิตย์เท่านั้น เพราะหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ นโยบายรัฐบาลไทยพยายามใช้วิธีการจับกุมผลักดันแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายออกนอกประเทศ เพื่อให้กลับเข้ามาใหม่อย่างถูกต้อง ทว่าปัญหายังคงอยู่ จนต้องมีการประกาศขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งใหญ่ในปี 2547 แล้วพัฒนาการมาเป็นกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ

พอมาถึงยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีการออกประกาศฉบับที่ 59 และ 60 ตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว (กนร.) เพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวอย่างบูรณาการ เมื่อ วันที่ 10 มิ.ย.2557 จากนั้นก็มีการไล่จับแรงงานหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายในหลายจังหวัด จนเกิดความตื่นตระหนกในหมู่ผู้ใช้แรงงานหลั่งไหลออกนอกประเทศ เกิดแรงช็อกต่อภาคธุรกิจก่อสร้าง ประมง ฯลฯ ผ่านไป 7 วัน คือวันที่ 17 มิ.ย. 2557 ก็มีประกาศฉบับที่ 68 สรุปโดยย่อคือ ให้นายจ้างจัดทำบัญชีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในความดูแล เพื่อรอนโยบายการจัดระเบียบในขั้นต่อไป พร้อมย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่มีนโยบายกวาดล้างแรงงานต่างด้าวแต่อย่างใด

สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนหน้ายุคคสช. มีการพูดถึงปัญหาแรงงานในหลายมิติ ทั้งปัญหาแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงสิทธิ ปัญหาคอรัปชั่น ส่วยนอกระบบ ที่ทำกันอย่างเป็นขบวนการโดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ปัญหาสังคมต่างๆ เช่น การเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมของแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะเปิดให้ซื้อประกันสุขภาพแทน แต่ก็ถือว่าล้มเหลวเพราะมีแรงงานซื้อประกันและเข้าถึงประกันสังคมน้อยมาก สุดท้ายภาระก็ไปตกอยู่ที่โรงพยาบาลในพื้นที่อยู่ดี

“ปัญหาเหล่านี้ คิดว่าทางฝ่ายทหารก็เฝ้าดูอยู่ แต่ทำอะไรไม่ได้ พอมาถึงยุคคสช.มีประเด็นที่ประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกาจับตาในประเด็นเรื่องแรงงานเถื่อน แรงงานเด็กและการคอรัปชั่น โดยกำลังจะออกรายงานการจัดอันดับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report – TIP Report) ในวันที่ 20 มิ.ย. 2557 นี้ จึงอาจเป็นที่มาของการดำเนินนโยบายดังกล่าว”สมพงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีประกาศฉบับที่ 59 และ 60 มีการใช้มิติทางด้านความมั่นคงเข้ามาจับ เนื้อหาคือการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวอย่างบูรณาการ ซึ่งฟังดูก็คงไม่มีใครเข้าใจ แต่คำว่าจัดระเบียบดูจะมีความหมายในแง่ลบมากกว่า จากนั้นก็มีเหตุการณ์ไล่หลังตามมา มีการไล่จับกุมแรงงานผิดกฎหมายเกิดขึ้นจริง

“ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจว่าเป็นแบบนี้ได้อย่างไร เพราะถ้าจะบูรณาการมันต้องเซ็ตระบบกันก่อน เข้าใจว่าฝ่ายรับปฏิบัติต้องการสร้างผลงาน จึงมีการไล่จับกุมเกิดขึ้น ทีนี้ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีการเรียกบุคคลไปรายงานตัว แล้วจากนั้นก็มาถึงคิวแรงงานต่างด้าว ผสมกับข่าวลือว่ามีการฆ่าแรงงานต่างด้าวอีก ก็ทำให้เกิดความตื่นตระหนกจนเป็นแบบนี้”สมพงค์กล่าว

สมพงค์ กล่าวต่อไปว่า ในประกาศฉบับที่ 59 และ 60 ไม่ได้พูดถึงวิธีการเอาไว้ พอมีประกาศฉบับที่ 68 ออกมา เป็นการเรื่องพูดถึงวิธีการที่ให้นายจ้างเตรียมรายชื่อไว้ ก็ดูคล้ายๆกับการขึ้นทะเบียนในปี 2547 ก็เชื่อว่าน่าจะคลี่คลายความตื่นตระหนกไปได้ในระดับหนึ่ง

สมพงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า ลึกๆแล้วอาจมีประเด็นเกี่ยวกับกระแสชาตินิยมในกัมพูชาด้วย เพราะรัฐบาลกัมพูชาอยากให้คนของตัวเองกลับ อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามกลุ่มเอ็นจีโอด้านแรงงานในกัมพูชา เชื่อว่าในระยะอีกประมาณ 2 เดือน แรงงานกัมพูชาก็คงกลับมาทำงานเป็นปกติ เพราะอยู่ในประเทศก็หางานยาก และช่วงต้นฤดูการทำนาในเดือน เม.ย. ก็ผ่านมาแล้ว กลับไปตอนนี้ก็ไม่มีงานทำ

ถามว่า แนวโน้มสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป สมพงษ์มองว่าจังหวะนี้ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากขึ้นทะเบียนก่อน เพื่อเอาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองขึ้นมาอยู่บนดิน ขั้นต่อไปนอกจากสำรวจจำนวนคนแล้วก็คงต้องขึ้นทะเบียนไปพร้อมๆกัน

“โอกาสนี้ หลายคนก็คงเห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้วยครั้งใหม่ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีสำหรับกลุ่มที่ลักลอบเข้าเมือง เพราะจะได้มีเอกสารยืนยัน ไม่ถูกกดขี่เอาเปรียบ และลดปัญหาส่วยนอกระบบลง เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอาจจะบ่นน้อยใจเพราะรายได้หดหาย”สมพงค์ กล่าวพลางหัวเราะ

ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ทิ้งท้ายว่า คงต้องจับตาดูรายงาน TIP report ที่จะประกาศในวันที่ 20 มิ.ย. 2557 นี้ว่า ปรากฏการที่เกิดขึ้นจะเป็นแรงส่งให้ไทยถูกลดอันดับจาก tier2 watch list ไปอยู่ใน tier3 หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีปัญหาเรื่องชาวโรฮิงยา ปัญหาการจัดการไม่เป็นระบบ บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ หรือเร็วๆนี้มีหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนออกมาโจมตีการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงอีก

“เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยผสมโรง แล้วมามีเรื่องแรงงานกัมพูชาแห่กลับประเทศอีก ซึ่งถ้าประกาศออกมาแล้วไทยยังคงอยู่ tier2เหมือนเดิม ก็ถือว่าเราล็อบบี้ได้เก่งมาก”สมพงค์ กล่าว