ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมออารักษ์” ระบุ รมว.สธ.คนใหม่ ไม่ควรเป็น ขรก.ประจำ เหตุมุมมองระบบสุขภาพแคบ จำกัดแค่งาน สธ. แถมทำงานกับหน่วยงานสุขภาพภายนอกยาก เหตุยึดติดบริหารแบบเดิม ใช้คำสั่งเป็นหลัก ชี้ควรเป็นคนนอก ยอมฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ช่วยสร้างระบบสุขภาพระดับชาติได้ เปิดใจเหตุที่ หมอเกรียง ยังเป็นประธานชมรม และตนยังคงมีบทบาทในชมรมแพทย์ชนบท 8 ปี เพราะไม่มีผู้สมัคร แจงการทำงานชมรมแพทย์ชนบทต้องแลกด้วยความไม่ก้าวหน้าในวิชาชีพ ชี้ไม่ได้อยากเป็นฮีโร่ และที่นี่ไม่มีการจัดตั้ง

แม้ว่าการเมืองภาพใหญ่ของประเทศขณะนี้ ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมุ่งไปที่การควบคุมสถานการณ์ประเทศให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย และการบริหารที่ลดความขัดแย้ง เน้นการเดินหน้าเศรษฐกิจเพื่อประชาชนอยู่ดีกินดี

แต่ในส่วนของภาพการเมืองระบบสุขภาพ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การนำของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ซึ่งได้ประกาศปฏิรูประบบสาธารณสุข เดินหน้าจัดทำ 12 เขตสุขภาพ มีกำหนดระยะเวลาภายใน 1 ปี ได้สร้างความกังวลให้กับคนในแวดวงสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งมองว่าจะนำไปสู่ “การปฏิรวบระบบสุขภาพ” มากกว่า “การปฏิรูประบบสุขภาพ”

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชมรมแพทย์ชนบท อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เบื้องต้นต้องเข้าใจคำว่า “ปฏิรูป” ไม่ว่าจะใช้คำไหนก็ตาม ต้องมี องค์ประกอบเหล่านี้คือ ทำให้สิ่งที่เป็นอยู่นั้นดีขึ้น, มีประชาชนเป็นเป้าหมาย, เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ดังนั้นต้องถามว่าการปฏิรูประบบสุขภาพ ด้วยการเดินหน้า 12 เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขมีองค์ประกอบข้างต้นนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการบริหารของกระทรวงสาธารณสุขเป็นการบริหารแบบระบบราชการที่คุ้นชินกับระบบสั่งการ มากกว่าการมีส่วนร่วม   

ทั้งนี้แม้ว่าที่ผ่านมา ทางปลัด สธ. จะเปิดโครงสร้างการบริหารเขตสุขภาพ ซึ่งแต่ละเขตจะดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งดูเหมือนประหนึ่งว่า จะเปิดกว้างรับการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคประชาชน แต่ความเห็นส่วนตัวมองว่า การมีส่วนร่วมยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เมื่อมองถึงบุคลิกของ นพ.ณรงค์ เพราะเพียงแค่การสร้างความสมานฉันท์ในระบบสาธารณสุขที่ท่านเป็นผู้นำอยู่ โดยเฉพาะระหว่างหน่วยงานตระกูล ส.และประชาคมสาธารณสุขที่มีเป้าหมายต้องการล้มตระกูล ส.ที่ท่านอ้างถึง จึงต้องถามว่าวันนี้ท่านสามารถทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความเป็นเอกภาพได้หรือไม่

“ที่ผ่านมาในการปฏิรูประบบสุขภาพ เท่าที่ติดตาม ท่านปลัด สธ. ไม่เคยพูดถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เลย อย่างหน่วยงานตระกูล ส. หรือแม้แต่ภาคประชาชน รวมไปถึงการทำงานร่วมกับท้องถิ่นและภาคเอกชน พูดถึงแต่การปฏิรูปและการทำงานเฉพาะในกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งวันนี้ระบบสุขภาพไม่ได้มีแต่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถนำพาระบบสุขภาพทั้งประเทศไทย ประกอบกับการยึดติดการทำงานแบบราชการ แม้ปลัด สธ.จะนั่งเป็นหัวโต๊ะก็ไม่ได้การยอมรับเพราะเป็นระบบคำสั่ง ซึ่งต้องปรับใช้วิธีการประสานงานระหว่างองค์กรแทน อย่างการดำเนินงานของ สปสช. และ สสส. ที่สามารถดึงทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมได้

นพ.อารักษ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าที่ผ่านมา พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. ซึ่งกำกับดูแล สธ. จะมอบนโยบายที่เน้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน แต่คงไม่สามารถทำให้ปลัด สธ.ปรับเปลี่ยนท่าทีหรือแนวคิดได้ เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในทัศนคติตั้งแต่แรก อีกทั้งที่ผ่านมาได้มีภาคประชาชนออกมาระบุถึงการมีส่วนร่วมในเขตสุขภาพ แต่ปลัด สธ.กลับระบุว่า ภาคประชาชนที่พูดถึงต้องเป็นกลุ่มผู้ป่วยเท่านั้น เพียงเท่านี้ก็เป็นปัญหาแล้ว เพราะท่านไม่ทราบว่า นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เป็นผู้ป่วยไต น.ส.สายชล ศรทัตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายมะเร็ง เป็นผู้ป่วยมะเร็ง ล้วนแต่เป็นตัวแทนผู้ป่วยทั้งนั้น ขณะที่ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แม้เป็นผู้ประสานทำงาน แต่ก็ทำงานเพื่อให้ผู้ป่วยเอดส์เข้าถึงการรักษาในช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าท่านไม่เคยสัมผัสเลย

ต่อข้อซักถามว่า ที่ผ่านมามีกระแสข่าว นพ.ณรงค์ จะก้าวขึ้นเป็น รมว.สาธารณสุข นั้น นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ทางแพทย์ชนบทไม่เคยมีท่าทีต่อต้าน แต่กังวลว่าหากตั้งแบบนั้นจะทำให้เกิดปัญหาร้าวลึกในระบบสาธารณสุข และอาจส่งผลกระทบระบบสุขภาพในภาพรวมได้ คนในแวดวงสุขภาพต่างกังวลในเรื่องนี้ เพราะงานต่างๆ ที่ออกมาในช่วงที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ อดีต รมว.สธ. มาจากผลักดันของปลัด สธ.   

“ผู้ที่จะมานั่งเป็น รมว.สาธารณสุขนั้น เห็นว่าไม่ควรมาจากข้าราชการประจำ เพราะการบริหารจะได้มุมมองระบบสุขภาพที่แคบๆ แค่อยู่ในกรอบ สธ. ซ้ำยังเป็นมุมมองในเชิงอำนาจแบบเก่า และยังมีความเป็นพรรคเป็นพวกในกระทรวง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งในระบบสุขภาพตามมาได้ ดังนั้นจึงควรเป็นคนนอก ส่วนจะเป็นหมอหรือไม่ก็ได้ เพราะคนนอกจะรับฟังจากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะภายใน สธ.หรือนอก สธ. สามารถเดินหน้าสร้างนโยบายสุขภาพระดับชาติได้ แต่ถ้าเป็นคนใน สธ.ก็จะฟังแต่คนกลุ่มเดิมๆ พวกตัวเองเท่านั้น” อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว และว่า วันนี้ระบบสุขภาพบ้านเราเดินหน้าไปมาก เน้นการกระจายอำนาจ แต่อยู่ๆ สธ.กลับมาพูดถึงเขตบริการสุขภาพที่เป็นการรวบอำนาจ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่ยังส่งผลต่อการทำงานของหน่วยบริการที่ต้องรอการตัดสินใจจากเขตสุขภาพ

นอกจากนี้ นพ.อารักษ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของแพทย์ชนบท ที่ผูกติดอยู่กับคนกลุ่มเดียว ว่า การที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ อยู่ในตำแหน่งประธานชมรมแพทย์ชนบทนาน 8 ปีนั้น และตนยังคงเป็นแกนนำอยู่นั้น เนื่องจากไม่มีผู้สมัคร ต้องยอมรับว่าการทำงานของแพทย์ชนบทต้องแลกมาด้วยความไม่ก้าวหน้า ถามว่าจะมีใครซักกี่คนที่ยอมแลกตรงนี้ และชมรมแพทย์ชนบทที่ผ่านมา ไม่เคยมีการจัดตั้ง ไม่มีการอุปโลกน์ เราทำงานในรูปแบบภาคประชาชน ใครอยากมีส่วนร่วมก็เข้ามา อย่างเช่น ในเหตุการณ์ชุมนุม กปปส.ที่ผ่านมา ได้มีการรวมตัวเพื่อดูแลรักษาพยาบาลผู้ชุมนุม ไม่ได้คิดหรือหวังว่าจะไปเป็นฮีโร่ในอนาคต