ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยมีขยะติดเชื้อ 43 ล้านกิโลกรมต่อปี เพิ่มขึ้นตามอัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน วิธีกำจัดดีที่สุดคือ การเผา แต่เตาเผามาตรฐานมีไม่เพียงพอ เตรียมเสนอเพิ่มค่ากำจัดขยะ จูงใจให้เอกชนลงลงทุนสร้างโรงกำจัดขยะติดเชื้อมาตรฐานเพิ่มขึ้น

ทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยกำลังเดินหน้าจัดระบบสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะติดเชื้อในสถานพยาบาล อาทิ สำลีเช็ดแผล เข็มฉีดยา และชิ้นส่วนอวัยวะร่างกายจากการผ่าตัด ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นตามอัตราการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนจากการสำรวจปริมาณขยะติดเชื้อในปี 2555 พบทั่วประเทศมี 43 ล้านกิโลกรัมต่อปี แบ่งเป็นจากสถานพยาบาลภาครัฐกว่า 28 ล้านกิโลกรัม และสถานพยาบาลเอกชนกว่า 14 ล้านกิโลกรัม

ทั้งนี้ การกำจัดที่ดีที่สุด คือ การเผา แต่เตาเผามาตรฐานมีไม่เพียงพอ ทั่วประเทศมีเตาเผาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง และเตาเผาเอกชนอีก 4 แห่ง แม้สถานพยาบาลประมาณครึ่งหนึ่งจะมีเตาเผาภายในใช้เอง เช่น โรงพยาบาลละงู จังหวัดสตูล แต่ก็ไม่เพียงพอ ดังนั้นกรมอนามัยจึงเตรียมออกเป็นกฎกระทรวงเพิ่มเติมว่าด้วยการกำจัดขยะติดเชื้อ พ.ศ.2545 จากเดิมที่ระบุให้เก็บเฉพาะค่าขนส่ง 500 บาทต่อเดือน ไม่สามารถเก็บค่ากำจัดได้ จะเพิ่มกฎหมายให้สามารถเรียกเก็บค่ากำจัดขยะพิษจากโรงพยาบาล และคลินิกต่าง ๆ ในอัตรา 1,500 บาทต่อเดือน เชื่อว่า เมื่อเปิดช่องให้เก็บค่ากำจัดขยะได้จะเป็นแรงจูงใจให้เอกชนหันมาลงทุนสร้างโรงกำจัดขยะติดเชื้อมาตรฐานเพิ่มขึ้น

ทันตแพทย์สุธา กล่าวว่า จะเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการสาธารณสุข คู่กับการแก้ไขพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ว่าด้วยจัดการขยะทั่วไปในครัวเรือน ที่เดิมอนุญาตให้เก็บเฉพาะค่าขนส่งเช่นกัน แต่จะกระตุ้นการคัดแยกและลดปริมาณขยะ ด้วยการเพิ่มค่ากำจัดขยะในครัวเรือนที่ผลิตขยะมากกว่า 5 กิโลกรัมต่อวัน จะถูกเก็บค่ากำจัดขยะ 150 บาท ซึ่งทั้ง 2 เรื่องจะเสนอภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้