ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นายกสมาคมหมออนามัย” ยอมรับ ปัญหางานคีย์ข้อมูล สร้างภาระงานหนักให้หมออนามัย ลดงานคุณภาพและงานเชิงรุกดูแลชาวบ้าน เผยปัจจุบันต้องคีย์ข้อมูลส่งทั้ง สธ.และ สปสช.อย่างละครึ่งๆ แยกยากว่าเป็นงานหน่วยใด เพราะต้องส่งข้อมูลทั้ง สธ. และ สปสช. แถมมีงานบันทึกข้อมูลเฉพาะกิจ พร้อมระบุกลุ่มหมออนามัยอยู่ระหว่างวิเคราะห์ “บทบาทและทิศทางหมออนามัยทศวรรษหน้า” เพื่อขับเคลื่อนงาน “หมออนามัย” 

นายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยอมรับว่า ช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยเฉพาะบริการที่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากได้มีการกำหนดตัวชี้วัดในการดำเนินงานในส่วนของหน่วยบริการ ซึ่งร่วมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบาล (รพ.สต.) ทำให้ในการบริการต้องมีการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพในระบบสาธารณสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทันตแพทย์ กายภาพบำบัด และเภสัชกร ส่งให้มีบริการในรูปแบบใกล้บ้านใกล้ใจ ดูแลผู้ป่วยในเชิงลึก ที่เห็นได้ชัดเจน คือ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต ซึ่งแต่เดิมไม่มีการค้นหาผู้ป่วยเข้านี้ รวมถึงการติดตามรักษา แต่หลังจากที่มีระบบหลังประกันสุขภาพถ้วหน้าที่มีการกำหนดตัวชี้วัด ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานความดันเหล่านี้ได้รับการดูแลที่ทั่วถึง ทั้งนี้จะเห็นว่าในแง่มุมของชาวบ้าน จะได้รับประโยชน์จากหน่วยบริการมากขึ้น  

นายสาคร กล่าวว่า แต่ในด้านของผู้ให้บริการสาธารณสุข โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หมออนามัย” ยอมรับว่า การจัดทำตัวชี้วัดดังกล่าวส่งผลให้มีงานตั้งรับมากขึ้น ส่งผลให้งานเชิงรุกลดลง ซึ่งเป็นปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะการที่ต้องบันทึกข้อมูลเพื่อส่งรายงาน ทั้งนี้ภาระการบันทึกข้อมูลที่เกิดขึ้นนี้ ในช่วงแรกที่มีการปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณเป็นรูปแบบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อกระจายงบประมาณ ร้อยละ 80 ของข้อมูลที่ต้องบันทึก เป็นข้อมูลที่ต้องนำส่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ปัจจุบันได้มีการปรับปรุง ส่งผลข้อมูลที่ต้องทำการบันทึกส่งรายงานในปัจจุบันเป็นของ สปสช. และกระทรวสาธารณสุขอย่างละครึ่งๆ ซึ่งบางครั้งข้อมูลเดียวกับแต่ต้องส่งให้ทั้ง สปสช.และ สธ.

“ภาระการคีย์ข้อมูลแรกๆ 80% เป็นของ สปสช. เลย แต่ปัจจุบันต้องคีย์ส่ง สปสช. และ สธ.ครึ่งต่อครึ่ง ถือว่าพอกัน แถมในการบันทึกข้อมูลนอกจากการใส่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์แล้ว ทางจังหวัดบางครั้งก็ยังต้องการข้อมูลที่เป็นรายงานกระดาษอีก ส่งผลให้ภาระงานเพิ่มเป็น 2 เท่า ยังไม่นับรวมการบันทึกรายงานเฉพาะกิจที่มักมีเข้ามาทุกสัปดาห์อีก ส่วนจะแยกว่าข้อมูลไหนเป็นของ สปสช.หรือ สธ.ก็แยกยาก เพราะงานหลายอย่างก็ทับซ้อนกันอยู่” นายกสมาคมหมออนามัย กล่าว และว่า แต่ทั้งนี้ยอมรับว่างานภาระการบันทึกข้อมูลนี้ ส่งผลต่อการทำงานดูแลชาวบ้านที่ลดลง ซึ่งจำนวนผู้ป่วยเข้ารับบริการที่ รพ.สต. แต่ละแห่งอยู่ที่ 7-100 ราย ใช้เวลาตรวจดูแลแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น ยังไม่รวมการดูแลผู้ป่วยในเชิงรุก

นายสาคร กล่าวว่า ทั้งนี้ในการปรับลดการบันทึกข้อมูลนั้น ที่ผ่านมาทาง รพ.สต.ได้นำเสนอปัญหาไปหลายรอบ ซึ่งก็มีการปรับลดการส่งข้อมูลลงส่วนหนึ่ง แต่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการบันทึกข้อมูลเพื่อแลกงบประมาณ เพราะทำให้ลืมเรื่องคุณภาพ แต่ไปเน้นที่เชิงปริมาณแทน ซึ่งการดูแลคนไข้ต้องเน้นที่คุณภาพที่ต้องติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจึงจะได้ผล อีกทั้งที่ รพ.สต.ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ไกลมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำเพียงแค่ 1-2 คน แม้ว่าตามกรอบอัตรากำลังจะกำหนดให้ถึง 5 คน ทำให้เกิดปัญหาภาระงานอย่างมาก

“ขณะนี้ทางหมออนามัยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ระบบงานของหมออนามัยว่าที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อกำหนดทิศทางบทบาทและการทำงานของหมออนามัยในทศวรรษหน้าที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป” นายกสมาคมหมออนามัย กล่าว

นายสาคร กล่าวต่อว่า สำหรับความคืนหน้าภายหลังจากที่มีการผ่าน พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. 2556 ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมไปนัดแรก โดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้ นพ.ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ซึ่งเป็นการหารือเพื่อขับเคลื่อนแนวทางการขับเคลื่อน ทั้งการออกกฎหมายลูกตาม พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข การคัดเลือกคณะกรรมการสภาวิชาชีพฯ และการเดินหน้าชี้แจง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุข ต่อสมาชิกทั้ง 4 ภาค  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รพ.สต.พ้อ บันทึกข้อมูลสุขภาพแลกเงินสปสช. จนไม่มีเวลาเยี่ยมชาวบ้าน

สปสช. แจงมีโปรแกรมวัคซีนหวัดใหญ่ที่ รพ.สต.บันทึกให้ร้อยละ 17

ผ่าประเด็นร้อน “ภาระงานและระบบข้อมูล” รพ.สต./หมออนามัย