ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน-แพทยสภาเล็งเอาผิดหมอหนุ่ม โพสต์ภาพไม่เหมาะสม ระบุอยากกินหัวพยาบาล ชี้ผิดจริยธรรมทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรี สธ.ตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริง ขณะที่เจ้าตัวขอโทษ พร้อมรับผิด

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในเฟซบุ๊กมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมการกระทำที่ไม่เหมาะสมของนายแพทย์หนุ่มคนหนึ่งเกี่ยวกับจริยธรรมแพทย์ เนื่องจากนายแพทย์คนดังกล่าวได้โพสต์ข้อความและรูปภาพลักษณะที่ใช้เท้าพาดเตียงคนไข้พร้อมกับระบุว่า ย้ายมาอยู่แผนกศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง อยากกินหัวพยาบาล ให้หาพยาบาลสาวจบใหม่มารอต้อนรับด้วย มีสามีแล้วไม่เอา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ไม่ให้เกียรติเพื่อนร่วมวิชาชีพสาธารณสุข พร้อมเรียกร้องให้แพทยสภา ตรวจสอบการกระทำของแพทย์คนดังกล่าว แม้ล่าสุดแพทย์คนดังกล่าวได้โพสต์ข้อความผ่านทาง เฟซบุ๊กของตนเองอีกครั้งว่าขอโทษพยาบาลและทุกคนที่เกี่ยวข้อง พร้อมรับผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าจะไม่ให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก

ขณะที่เฟซบุ๊กของ "ประชาคมสาธารณสุขเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย" ได้ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า จากความไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้น ล่าสุด นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการสั่งสอบวินัยนายแพทย์ผู้นี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันกระแสข่าวว่านายแพทย์ผู้นี้เคยเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.บึงกาฬ

ทั้งนี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว เรื่องนี้เป็นหน้าที่ผู้บังคับบัญชาของแพทย์คนดังกล่าวที่จะต้องวินิจฉัยว่าจะดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าความผิดเป็นระดับใด และจึงจะพิจารณาว่าจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยหรือไม่

"กรณีที่แพทย์ใช้โซเชียลมีเดียในการ แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะเป็นแพทย์ควรต้องมีความระมัดระวังและรอบคอบ เพราะเป็นสื่อที่กระจายเร็วและถึงประชาชนในวงกว้าง ที่สำคัญแพทย์ถือเป็นข้าราชการคนหนึ่ง จะทำอะไรต้องระวัง" นพ.ณรงค์กล่าว

ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ โลห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าวถือว่าผิด ทำให้เสื่อมเสียในศักดิ์ศรีวิชาชีพแพทย์ แพทยสภาจะเรียกนายแพทย์คนดังกล่าวมาสอบถามข้อเท็จจริง โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อพิจารณาว่าจะลงโทษอย่างไร หากแพทย์รายนี้มีการขอโทษ ก็ต้องมาวิเคราะห์ว่า รู้สึกสำนึกจริงหรือไม่ หากจริง จะมีโทษเพียงว่ากล่าวตักเตือน แต่โทษดังกล่าวจะมีผลในแง่ของความน่าเชื่อถือมาก กล่าวคือ หากไปศึกษาต่อต่างประเทศ หรือต้องการไปประกอบวิชาชีพแพทย์ในต่างประเทศจะไม่สามารถทำได้ เพราะต่างประเทศไม่ยอมรับแพทย์ที่มีความด่างพร้อย

"จริงๆ เรื่องพวกนี้ในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำหน้าที่ผลิตแพทย์จบใหม่จะมีการเรียนการสอนเพิ่มเติมในเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ ความเหมาะสมในวิชาชีพ มีการสอนมาตลอด แต่เรื่องนี้พูดยาก เนื่องจากบางสิ่งบางอย่างเป็นเรื่องของบุคคล บางอย่างปลูกฝังกันยาก เหมือนคนจะดีจะเลว ไม่ได้อยู่ที่วิชาชีพ หรือการศึกษา" นพ.สมศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการเรียกมาสอบถามจะต้องมีการตรวจสอบสภาพจิตใจหรือไม่ เนื่องจากภาวะดังกล่าวเกรงว่าคนไข้จะหวาดกลัว รวมทั้งพยาบาลเพื่อนวิชาชีพ เนื่องจากกลัวถูกล่วงเกิน ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า อาจไม่ได้ป่วยก็ได้ แต่คงต้องมีการเรียกมาคุยถึงเรื่องนี้ก่อน ส่วนจะเรียกเมื่อไร อย่างไร คงต้องขอเวลาดำเนินการ เพราะเพิ่งทราบเรื่องวันนี้ (20 มิ.ย.) ตามกระแสข่าวออนไลน์เช่นกัน

นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภาได้รับเรื่องร้องเรียนถึงพฤติกรรมของแพทย์ผู้นี้แล้ว และได้ประสานกับต้นสังกัดเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไป แต่คงไม่สามารถให้รายละเอียดมากนัก ขอตรวจสอบก่อน อย่างไรก็ตามขอเตือนสมาชิกแพทยสภา ว่าขอให้เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นตัวอย่างสำหรับแพทย์และผู้ใช้สังคมออนไลน์ทุกคนว่า ก่อนที่จะโพสต์รูปของคนไข้หรือโพสต์เรื่องของตนเองหรือแสดงความคิดเห็นอะไรลงไปต้องรู้จักระมัดระวัง ใช้ความคิดให้มากก่อนโพสต์ด้วยทุกครั้ง เพราะหากโพสต์ข้อความหรือรูปภาพที่ไม่เหมาะสม แม้ในกลุ่มของตน อาจเผยแพร่ออกไปจนมีผู้เสียหาย และนำไปสู่การฟ้องร้องได้

"ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ได้ระบุให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพึงยกย่องให้เกียรติเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน และพึงให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของผู้ร่วมงานด้วย ซึ่งเป็นพื้นฐานการทำงานร่วมกันที่ดีเพื่อประชาชนต่อไป" นพ.สัมพันธ์กล่าว

ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ปัญหาลักษณะนี้พบมากขึ้นในปัจจุบันตามการพัฒนาของไอทีและสื่อออนไลน์ ทั้งนี้ ฝ่ายไอทีแพทยสภาได้เตรียมความพร้อมและวางมาตรฐานเรื่องนี้ไว้ระดับหนึ่ง โดยจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในคณะกรรมการบริหารแพทยสภา ถึงการวางมาตรฐานและข้อแนะนำในการใช้โซเชียลมีเดียของแพทย์และนักศึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่ระดับความลับผู้ป่วยจนถึงการให้ข้อมูลที่อาจทำให้ทั้งผู้ป่วย ผู้ร่วมงาน และผู้ร่วมวิชาชีพได้รับผลกระทบ รวมถึงอาจเพิ่มเนื้อหาขึ้นในหลักสูตรการเรียนการสอนแพทย์ต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 21 มิถุนายน 2557