ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ -สธ.เตรียมเสนอ คสช.ตั้งกองทุนสวัสดิการ ดึงแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในการดูแลทั้งหมด ตั้งแต่ตรวจสุขภาพใน รพ.รัฐเท่านั้น ตรวจเสร็จต้องซื้อประกันสุขภาพทันทีก่อนออกใบอนุญาตทำงานในประเทศ แถมจ่อลดราคาบัตรเหลือ 1,300 บาท จากเดิม 2,200 บาท

นพ.บัญชา ค้าของ

นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง และในฐานะผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ดูแลแรงงานต่างด้าวนั้น ล่าสุดตนได้รับมอบหมายต่อจาก นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน ในฐานะผู้รับผิดชอบเรื่องการดูแลแรงงานต่างด้าว ให้มาจัดทำข้อเสนอในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว คือ 1.ให้การตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวแบบวันสต็อปเซอร์วิส ด้วยการนัดหมายล่วงหน้าต้องทำในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น เพื่อความสะดวกของผู้มารับบริการ เนื่องจากระบบเดิมของประกันสังคมนั้นกำหนดให้ดำเนินการที่เขตบริการสุขภาพ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัด นอกจากนี้ยังกำหนดให้แรงงานที่ผ่านการตรวจสุขภาพแล้วต้องซื้อประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวทั้งหมด ก่อนจะได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศ ทำให้สามารถครอบคลุมได้ดีกว่าระบบของประกันสังคมที่ไม่ได้กำหนดให้แรงงานที่ผ่านการตรวจสุขภาพแล้วต้องซื้อประกันสุขภาพร่วมด้วย ดังนั้นจึงทำให้แรงงานต่างด้าวไม่ยอมซื้อบัตรประกันสุขภาพหลังจากได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศแล้ว

2.การปรับลดราคาบัตรประกันสุขภาพแรงงาน ต่างด้าวจากเดิมอยู่ที่ราคา 2,200 บาท ค่าตรวจสุขภาพแรกเริ่มอีก 600 บาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราที่เหมาะสม เบื้องต้นได้คำนวณโดยคาดการณ์ว่าหากสามารถนำแรงงานต่างด้าวนอกระบบในประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบได้ทั้งหมด จะทำให้มียอดแรงงานต่างด้าวกว่าล้านคน อาจจะสามารถปรับอัตราค่าบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวเหลือเพียง 1,300 บาท ไม่รวมค่าตรวจสุขภาพเมื่อแรกเริ่ม 600 บาท ทั้งนี้ สามารถแบ่งจ่ายเป็นงวดได้ เช่น 3, 6 เดือน เป็นต้น และ 3.เสนอให้ตั้งกองทุนเพื่อดูแลแรงงานต่างด้าวทุกสังกัด และให้อยู่ในความดูแลของ สธ. โดยกองทุนดังกล่าวจะมีงบประมาณเพื่อส่งเสริมป้องกันโรคร่วมด้วย นอกเหนือจากการให้การรักษาตามสิทธิในบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ซื้อจาก สธ.

"ต้องยอมรับว่าลักษณะของแรงงานต่างด้าวไม่ได้ทำงานในประเทศไทยจนสิ้นอายุขัยพอที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องของการเสียชีวิตจากประกันสังคมอย่างแน่นอน ส่วนใหญ่ทำงาน 3-4 เดือนก็มีการย้ายงาน ทำให้นายจ้างรับไม่ไหวที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม จึงคิดว่าน่าจะมีการแก้กฎหมายให้ทำประกันกับเราทั้งหมด" นพ.บัญชากล่าว และว่า เราจำเป็นต้องขออนุญาตไปยังคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ให้การตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวดำเนินการในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น เพราะนี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง ปลอดภัยด้านสุขภาพ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานหรือเศรษฐกิจ จำเป็นต้องตรวจเข้มข้น เช่น โรคเท้าช้าง ต้องตรวจและให้รับประทานยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่

นพ.บัญชากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หลังจากที่เกิดความเข้าใจผิดในการสื่อสารเรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว จนทำให้มีแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศตัวเองเป็นจำนวนมากนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการดูแลสุขภาพของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย เพราะขณะนี้มีแรงงานต่างด้าวที่ซื้อประกันสุขภาพกับ สธ.ประมาณกว่า 4 แสนคน หรือครอบคลุมกว่า 80% ของแรงงานที่อยู่นอกระบบประกันสังคมที่มีอยู่ประมาณ 5 แสนคน ทำให้การดูแลสุขภาพยังดำเนินการได้ตามปกติ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 23 มิถุนายน 2557