ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการโอนย้ายสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนที่เกษียณอายุการทำงานและพ้นสถานะการเป็นผู้ประกันตนไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า หลังจากพ้นสถานะการเป็นผู้ประกันตน ผู้ที่เกษียณการทำงานยังคงสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลระบบประกันสังคมต่อไปได้อีก 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน เนื่องจากกฎหมายประกันสังคมให้สิทธิในเรื่องนี้ไว้ แต่ยังสามารถไปลงทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ที่มีภูมิลำเนาตามบัตรประชาชนได้ล่วงหน้า ซึ่งเมื่อผู้เกษียณการทำงานไปลงทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ สำนักงานฯ ก็จะให้ผู้เกษียณการทำงานเลือกโรงพยาบาลหรือคลินิกที่อยู่ใกล้บ้านในพื้นที่ภูมิลำเนาตามบัตรประชาชน

รองเลขาธิการ สปส.กล่าวว่า หลังจากพ้นช่วงเวลา 6 เดือนที่มีสิทธิประกัน สังคมไปแล้ว ผู้เกษียณการทำงานที่ไปลงทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้วก็สามารถไปใช้ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ทันที เนื่องจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการประสานงานด้านข้อมูลเดือนละ 2 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ จึงขอยืนยันว่าไม่มีปัญหาในการโอนย้ายสิทธิรักษาพยาบาลระหว่างกัน

"ส่วนกรณีผู้เกษียณการทำงานที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังและเข้ารับการรักษาอยู่กับโรงพยาบาลระบบประกันสังคม หากโอนย้ายสิทธิไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว สามารถเลือกโรงพยาบาลเดิมที่เคยเข้าการรักษาอยู่ ก็จะทำให้การรักษามีความต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่สามารถเลือกโรงพยาบาลเดิมได้เสมอไป เนื่องจากโรงพยาบาลระบบประกันสังคมมีโรงพยาบาลเอกชนมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ ขณะที่โรงพยาบาลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีโรงพยาบาลรัฐมากกว่าโรงพยาบาลเอกชน หากไม่สามารถเลือกโรงพยาบาลเดิมได้ ก็ให้ไปขอประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลเดิม แล้วนำไปให้แพทย์โรงพยาบาลแห่งใหม่ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" นพ.สุรเดชกล่าว

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 24 มิ.ย. 2557 (กรอบบ่าย)