ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ที่สหรัฐอเมริกาเพิ่งประกาศไปเมื่อเร็วๆนี้ ประเทศไทยถูกลดอันดับจากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Tier2 Watch list) ลงมาอยู่ระดับต่ำสุด คือ Tier3 ซึ่งหมายถึงประเทศที่ไม่มีการดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานการต่อต้านการค้ามนุษย์ขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐและไม่มีความพยายามแก้ไข ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่ถูกกล่าวหาว่ามีการใช้แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก อาทิ กุ้ง อ้อย สิ่งทอ อาจเจอมาตรการกีดกันทางการค้า หรือมีผลกระทบทางจิตวิทยากับคู่ค้าที่สั่งซื้อสินค้าจากไทย

แต่อีกนัยหนึ่ง การจัดอันดับเช่นนี้ ก็เป็นจุดกระตุ้นให้ประเทศไทยต้องหันมาใส่ใจปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติ นำไปสู่การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ดีขึ้นเช่นกัน

วันที่ 24 มิ.ย. 2557 สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ จัดสัมมนาในหัวข้อ "ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน...โจทย์ที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข" เพื่อระดมความคิดเห็นถึงสภาพปัญหา แนวทางแก้ไข และนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาต่อไป

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การจัดอันดับให้ไทยตกไปอยู่ในระดับที่ต่ำสุดเรื่องการค้ามนุษย์ เชื่อว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ซึ่งต้องรอดูท่าทีของสหรัฐอเมริกาว่าจะออกมาตรการใดมากดดัน แต่ไม่น่าจะถึงขั้นคว่ำบาตรเพราะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยหากมีการค้าขายกับประเทศในชาติตะวันตก ก็ต้องปรับตัวเพื่อสร้างความมั่นใจ โดยเฉพาะการที่จะขอปลดสินค้าที่ถูกขึ้นบัญชีดำใน 4 รายการ คือ กุ้ง ปลา อ้อย และเครื่องนุ่งห่ม ที่ต้องทำงานอย่างหนักให้เห็นผลชัดแจ้ง

รศ.แล กล่าวด้วยว่าอุตสาหกรรมกุ้งและเครื่องนุ่งห่ม ที่มีการใช้แรงงานจำนวนมากจะกระทบหนัก โดยเฉพาะลูกจ้างที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรายวันและแรงงานนอกระบบ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หากได้รับผลกระทบจนต้องถูกเลิกจ้าง จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือกรณีว่างงาน ดังนั้นภาครัฐควรจะแก้ปัญหานี้ควบคู่กันทั้งการสร้างความเข้าใจ โดยมีมาตรการที่ชัดเจน และหามาตรการดูแลลูกจ้างสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้วย

ขณะที่ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความร่วมมือเป็นอย่างมากในการแก้ปัญหาดังกล่าว อาทิ สถิติการจับกุมคดีค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นจาก 20 กว่าคดี เป็น 200 กว่าคดีในปีที่ผ่านมา หรือเรื่องแรงงานประมง ก็มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานประมงใน 7 จังหวัด เพื่อเป็นสื่อกลางทำงานกับสมาคมประมงเกี่ยวกับความต้องการแรงงาน การคุ้มครองเยียวยาลูกจ้าง การร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ จัดทำแนวปฏิบัติในการทำงานที่ดี (Good Labour practice) ตลอดจนทำเอ็มโอยูกับนายจ้างในการมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ เป็นต้น

"จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เราก็คาดหวังว่าการจัดอันดับที่ออกมาจะดีขึ้น แต่พอประกาศออกมาแล้วก็น่าผิดหวัง เพราะเรามุ่งมั่นแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว ทุกกระทรวงก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รวมทั้งผู้นำประเทศก็ให้ความสำคัญ ยกเป็นวาระแห่งชาติ"ม.ล.ปุณฑริก กล่าว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประเด็นที่สหรัฐอเมริกายังมองว่าไทยยังมีจุดบกพร่องมี 2 ประเด็นคือ 1.เรื่องการดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสหรัฐอาจมองว่าเราดำเนินคดีแค่ระดับกฎหมายแรงงาน หรือกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ไม่ส่งเรื่องต่อไปเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และ 2.การตรวจแรงงาน ยังไม่สะท้อนในเรื่องการตรวจแรงงานบังคับและแรงงานเด็ก ซึ่งก็ต้องยอมรับและกลับไปปรับแผนการดำเนินการให้ดีขึ้น

ด้าน พ.ต.ท.มนตรี เบ้าทอง พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการพิเศษ กองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า จุดที่ตำรวจเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ เป็นการดูแลที่ปลายเหตุ ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าดำเนินคดีได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากการกระทำผิดลักษณะนี้หาหลักฐานยาก เช่น การกระทำผิดบนเรือซึ่งไปทำการประมงนอกน่านน้ำ เป็นต้น

พ.ต.ท.มนตรี กล่าวว่า ต้องมีการจัดระบบฐานข้อมูลให้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น คดีบนเรือประมง มีความหละหลวมในการจดทะเบียนเรือ ชื่อเรือบางชื่อมีเรือใช้ถึง 10-15 ลำ เวลามีแรงงานมาร้องเรียน พอไปตรวจสอบก็หาชื่อเจ้าของเรือไม่เจอเพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ หรือหากหาเรือเจอ ก็มีเรือชื่อซ้ำกันหลายลำจนไม่รู้ว่าเป็นลำไหน หรือหากเจอว่าเป็นเรือลำไหน พอไปตรวจรายชื่อผู้ควบคุมเครื่อง กับผู้ควบคุมเรือก็ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือตัวแรงงานเองก็แทบไม่รู้จักไต้ก๋งว่าชื่อจริงชื่ออะไร รู้จักแต่ชื่อเล่น การตรวจสอบหาหลักฐานจึงทำได้ยาก การดำเนินคดีจึงดำเนินคดีกับภาพสเก็ตเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้หลักฐานการดำเนินคดีอ่อนมาก

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมนั้น ต้องยอมรับว่าแรงงานไทยเลิกทำงานเกี่ยวกับประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นล้างกุ้งหรือธุรกิจแช่แข็งแล้ว ยิ่งแรงงานอีสานหันไปปลูกยางกันหมด ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานจนต้องดึงแรงงานพม่าและกัมพูชาเข้ามาแทน

อย่างไรก็ตาม กรอบคิดของกระทรวงแรงงานยังมีเรื่องการจำกัดโควต้า หรือสงวนตำแหน่งงานให้คนไทยทำ ซึ่งต้องยอมรับว่างานเช่นนี้คนไทยไม่ทำแล้ว ดังนั้น ทางออกคือเวลานายจ้างขอโควต้าจ้างแรงงานต่างด้าวมา กระทรวงแรงงานควรอนุมัติไปเลย 100% ไม่ต้องสงวนตำแหน่งให้คนไทย ปัญหาการใช้แรงงานเถื่อนก็จะลดลง

ขณะที่สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ใน Tier2 มา 4 ปีแล้ว แต่ความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาเพิ่งเกิดขึ้นจริงจังในช่วง 1-2 ปีนี้ และเมื่ออ่านรายงาน TIP report ปีล่าสุด ก็พบว่าน่าสนใจทุกบรรทัด หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ไทยปฏิเสธได้ยาก เพราะการเก็บข้อมูลนั้น สหรัฐไม่ได้ใช้เฉพาะข้อมูลจากหน่วยงานรัฐอย่างเดียว แต่เก็บข้อมูลจากเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้ รวมถึงเก็บข้อมูลจากตัวแรงงานต่างด้าวโดยตรง

สมพงค์ มองว่า ประเด็นหลักๆที่ควรแก้ไขเพื่อให้พ้นจาก Tier3 มีประเด็นเรื่อง เจ้าหน้าที่รัฐกับการบังคับใช้กฎหมาย การเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ การส่งส่วยนอกระบบ และต้องหาแนวทางจัดการกับนายจ้างที่ไม่ใส่ใจกฎหมาย ซึ่งจุดนี้นายจ้างอาจต้องดูว่าจะมีมาตรการควบคุมกันเองอย่างไร และในส่วนของขบวนการค้ามนุษย์นั้น ต้องสืบสวนให้เห็นถึงเครือข่ายว่ามีใครเป็นนายหน้า มีใครเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง

ขณะเดียวกัน นอกจากการจัดระเบียบแรงงานแล้ว ควรจัดระเบียบเอเจนซี่แรงงานไปพร้อมๆกัน ไม่ให้เก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างด้าวสูงเกินไป รวมทั้งอาจต้องแก้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานของแรงงานต่างด้าว เช่น กฎหมายประกันสังคม เป็นต้น

"ในระดับนโยบาย เราทำได้ดีแล้ว แต่อยากให้เน้นการปฏิบัติลงในพื้นที่ให้มีกลไกขับเคลื่อนและเข้าถึงตัวแรงงานต่างด้าวได้จริง ถ้าเป็นไปได้อยากเห็นกระทรวงแรงงานเชิญเครือข่ายเอ็นจีโอที่ทำงานด้านนี้ไปร่วมพูดคุยหารือด้วย ถ้าหากเปิดโอกาส ผมเชื่อว่ามีเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้ไม่ต่ำกว่า 30 เครือข่ายพร้อมให้ความร่วมมือ และอาจทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆในการแก้ไขปัญหาก็ได้"สมพงค์ กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง