ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมแพทย์ชนบทร่อนหนังสือถึง คสช. สนับสนุนปฏิรูประบบสาธารณสุข เน้นกระจายอำนาจให้โรงพยาบาลยึดโยงกับพื้นที่เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น  ชี้ผู้นำปฏิรูประบบสาธารณสุขต้องไม่มีพฤติกรรมต้องห้าม 10 ประการ เพราะจะสร้างความแตกแยกครั้งใหญ่และนำระบบสาธารณสุขถอยหลังเข้าคลอง

นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ

25 มิ.ย.2557 นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อ.นาทวี จ.สงขลา อดีตแพทย์ชนบทดีเด่นศิริราชพยาบาลและผู้นำแพทย์ชนบทเปิดเผยว่าหลังการเข้ายึดอำนาจของ คสช. สมาชิกชมรมแพทย์ชนบทและหน่วยแพทย์กู้ชีพจาก รพ.ต่างๆ ได้เดินทางกลับเข้าสู่ที่ตั้งและจับตาดูการแก้ไขปัญหาเพื่อปฏิรูปประเทศไทย เห็นว่า คสช.ยังไม่ได้พูดถึงนโยบายเกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยตรง  ดังนั้นทางชมรมแพทย์ชนบทจะร่วมกับภาคีต่างๆจัดทำข้อเสนอให้กับ คสช.เพื่อให้ระบบสาธารณสุขมีการกระจายอำนาจให้หน่วยบริการต่างๆ ได้ใช้ศักยภาพและยึดโยงกับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งจะขอให้ คสช.คำนึงถึงผู้ที่จะเป็นผู้นำในการปฏิรูประบบสาธารณสุขว่าจะต้องไม่เป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมต้องห้าม 10 ทุรลักษณ์ เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยก ระบบสุขภาพถอยหลังเข้าคลอง ประชาชนเดือดร้อนหนัก

นพ.วชิระ  บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวเพิ่มเติมว่า 10 ประการของผู้นำที่คนสาธารณสุขไม่ยอมรับ และจะไม่ยอมให้เป็นผู้นำการปฏิรูปอย่างเด็ดขาด ประกอบด้วย

1.เคยเป็นเด็กสร้างของนักการเมืองที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการวิ่งเต้นเข้าหา เจ๊ ด หรือมีข่าวไปรายงานตัวที่ดูไบ

2.ขณะที่มีอำนาจได้กอดคอเป็นคู่หูดูโอ้กับนักการเมืองที่เป็นใหญ่ในรัฐบาลเดิม ผลักดันนโยบายทำลาย รพ.ชุมชนและระบบสาธารณสุขในชนบท เพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจ รพ.เอกชนในเมืองใหญ่ สั่งเกณฑ์ม๊อบวิชาชีพจาก รพ.ใหญ่ทิ้งงานบริการประชาชนมาสนับสนุน เพิ่มความแตกแยกในระบบบริการสาธารณสุขครั้งใหญ่

3.รับนโยบายทางการเมืองมุ่งทำลายระบบหลักประกันสุขภาพและหน่วยงานตระกูล ส. สร้างความปั่นป่วนในระบบสาธารณสุขของชาติ  หยุดกระแสปฏิรูป หยุดทำ CL ยา เอื้อประโยชน์กับบริษัทยาข้ามชาติ

4.ออกนโยบาย P4P สั่งให้เจ้าหน้าที่ รพ. ทั้งใหญ่และเล็ก รวมทั้ง รพ.สต.เก็บแต้มผลงานประจำวัน แลกกับเงินค่าตอบแทนที่น้อยนิด ทำลายระบบค่าตอบแทนเหมาจ่ายที่จูงใจให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ทำงานในชนบท จนถูกขึ้นป้ายคัดค้านขับไล่ หน้า รพ.ทั่วประเทศ

5.ขัดขวางไม่ให้รถหน่วยแพทย์กู้ชีพของ รพ.ต่างๆ ที่ระดมกันมาจากทุกภาคเพื่อช่วยดูแลการต่อสู้ของมวลมหาประชาชนที่ต้องเผชิญกับแก๊สน้ำตาและระเบิดเอ็ม 79 สั่งให้รถทุกคันจอดรอไว้ที่กระทรวงสาธารณสุขหรือ รพ.สงฆ์ ที่ไม่ใช่จุดเกิดเหตุ

6.ร่วมกับผู้มีอำนาจทางการเมืองในกระทรวงสาธารณสุขทำลายภาพลักษณ์และงานขององค์การเภสัชกรรม ทำลายโรงงานผลิตวัคซีนของไทยที่ใกล้สร้างเสร็จ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยาข้ามชาติ  แต่งตั้งตัวเองและพวกพ้องเข้าเป็นบอร์ดและผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม ทำให้ธุรกิจถูกกระทบอย่างหนัก ยอดจำหน่ายยาลดลงจนน่าเป็นห่วง

7.เป็นนักฉวยโอกาสเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเมื่อเห็นนักการเมืองที่ยึดเกาะกำลังจะหมดอำนาจลง ได้ประกาศตัวเป็นฮีโร่นำการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข เอาผลงานที่เคยคัดค้าน ขัดขวาง เช่น การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ การมีส่วนร่วมของประชาชน มาโฆษณาเป็นผลงานปฏิรูปของตัวเอง

8.เสนอแผนปฏิรูปสร้างเขตบริหารสุขภาพ ยึดอำนาจที่อดีตยาวนานเคยกระจายให้ นพ.สสจ. 76 จังหวัด ผอ.รพ.กว่า 1,000 แห่ง มารวมศูนย์ที่ผู้ตรวจราชการ 12 เขต เพื่อง่ายกับการสั่งการรวมศูนย์อำนาจ และเปิดช่องให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างได้ง่ายขึ้น

9.สั่งให้หน่วยบริการและเจ้าหน้าที่ไม่ให้ส่งข้อมูลการบริการ ไม่ให้เข้าร่วมงานและร่วมประชุมพัฒนางานกับ สปสช. โดยเอาผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อเป็นเกมส์ต่อรองอำนาจของตน

10.ประกาศยุบบทบาทและดึงหน่วยงานตระกูล ส. อาทิ เช่น สปสช. สสส. สช. สพฉ.  ให้กลับไปอยู่ภายใต้อำนาจกระทรวงสาธารณสุข ยุติยุคการปฏิรูประบบสุขภาพที่ทำต่อเนื่องนับสิบๆปี  แต่จะเปิดยุคความขัดแย้งครั้งใหญ่ในระบบสาธารณสุข

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า เรื่องการปฏิรูปเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อประชาชนทั้งประเทศ จึงต้องมีผู้นำที่ดีจึงจะสำเร็จและประชาชนได้ประโยชน์  ตรงกันข้ามถ้าได้คนที่บ้าอำนาจ  อ่อนบริหาร  ขาดวิชาการ ขาดความละอาย เปลี่ยนสีตามผู้มีอำนาจทางการเมือง กล้าใช้วิธีแบ่งแยกและปกครอง  ไม่เอาน้อง หักหลังเพื่อน ทรยศนาย  ถ้าคนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ถูกเลือกใช้ ก็เป็นเวรเป็นกรรมของประชาชนและประเทศชาติ และจะมีการคัดค้าน เกิดความแตกแยกในระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่อย่างแน่นอน