ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ปัดสั่งหมออนามัยคีย์ข้อมูลสุขภาพ เผยให้ทำแค่เรื่องเดียว ที่เหลือเป็นการกำหนดของ สธ. 21 แฟ้ม และกรมต่างๆ ในสธ. ระบุต้องใช้ข้อมูลเป็นผลงานพิจารณางบลงหน่วยบริการ หากส่งบันทึกไม่ตรงเวลาเท่ากับไม่มีผลงาน ชี้มีเพียงส่วนน้อยที่มีปัญหา แนะสธ. จัดระเบียบกรมมอบหมายงาน ระบบบันทึกข้อมูล ลดภาระหมออนามัย ด้านปลัดสธ.ตอบรับข้อเสนอโอนเงินตรงที่รพ.สต. แจงเป็นไปได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือ         

25 มิ.ย. 57 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือหมออนามัยที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ระบุว่าปัจจุบันได้รับมอบหมายให้บันทึกข้อมูลสุขภาพประชาชนจำนวนมาก  หากไม่ดำเนินการหรือส่งข้อมูลไม่ทันตามกำหนดจะไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก สปสช. ทำให้ไม่มีเวลาในการลงเยี่ยมสุขภาพชาวบ้าน ว่า  ปัจจุบันการคีย์ข้อมูลด้านสุขภาพมีประมาณ 21 แฟ้มซึ่งเป็นการรายงานทั้งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) และสปสช. โดย สปสช.จะมีเพียงเรื่องการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่  ซึ่งให้ดำเนินการเฉพาะรพ.สต.ที่มีแพทย์ประจำอยู่เท่านั้น  ซึ่งปัจจุบันมีรพ.สต.อยู่ 985 แห่งที่ดำเนินการจากทั้งหมด 9,794 แห่งทั่วประเทศ   

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า  ข้อมูลที่รพ.สต.ต้องบันทึกเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.งานประจำ เช่น บันทึกข้อมูลการให้บริการตรวจรักษา 2.ข้อมูลบริการพื้นฐานตามมาตรฐานที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์(สนย.)กำหนด 3.ข้อมูลที่ต้องบันทึกเพิ่มเติมจากที่กรมและหน่วยงานต่างๆระบุ เช่น คัดกรองความเสี่ยง คัดกรองมะเร็งปากมดลูก และชั่งน้ำหนักนักเรียน เป็นต้น และ 4.งานที่สปสช.มอบหมาย ซึ่งมีเพียงเรื่องการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่เท่านั้น

“ปัญหาเรื่องการบันทึกข้อมูล รพ.สต.ส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการได้ดีมีประมาณ 50% จัดการได้ดีมาก 1 ใน 3 และสามารถประมวลผลไปใช้งานกับงานที่ดำเนินการได้ มีเพียงส่วนน้อยที่การบันทึกข้อมูลส่งผลต่อการทำงาน ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดผลกระทบ ซึ่งข้อมูลที่รพ.สต.ต้องบันทึกส่วนใหญ่เป็นกำหนดโดยกรมต่างๆ เช่น กรณีการคัดกรองเบาหวาน สปสช.กำหนดให้ดำเนินการคัดกรองในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่กรมควบคุมโรคกำหนดให้ดำเนินการในผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และต้องทำให้ได้ 90 % จึงเป็นภาระหนักให้กับรพ.สต. ยิ่งงบประมาณก็ต้องเพิ่ม ดังนั้น  ถ้าสธ.สามารถจัดระเบียบการมอบหมายงานไปยังรพ.สต. และจัดระบบการบันทึกข้อมูลใหม่ก็จะช่วยรพ.สต.ได้มาก”นพ.ประทีปกล่าวและว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้เพื่อลดภาระรพ.สต.นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันในการออกแบบระบบข้อมูลและเก็บข้อมูลใหม่ ไม่ให้การเก็บข้อมูลไปเป็นภาระอยู่ที่รพ.สต.อย่างเดียว  

ด้านนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สธ.มีการหารือถึงเรื่องนี้ โดยจะให้ทำงานในรูปแบบเขตบริการสุขภาพ  ในเรื่องของข้อมูลก็ส่งตรงในระดับเขต ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าสาธารณสุขในรพ.สต.บางแห่งอาจต้องการให้มีการส่งงบประมาณส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไปที่รพ.สต.โดยตรง เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการนั้น ก็มีการหารือเรื่องนี้ และมีความเป็นไปได้ เพราะหากส่งงบประมาณไปจะต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีตัวชี้วัด ซึ่งสปสช.ก็ทำหน้าที่ประเมินผลงานจากงบประมาณที่ส่งมอบ เรื่องนี้อยู่ระหว่างหารือ