ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมเนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ 25 มิถุนายน สร้างกระแสและรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงภัยร้ายของการขาดสารไอโอดีนและใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีนเป็นประจำ พร้อมชูเมนูส้มตำไอโอดีน สร้างสุขภาพ

วันนี้ (25 มิถุนายน 2557) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดงานรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ว่า วันไอโอดีนแห่งชาติ 25 มิถุนายนปีนี้ กรมอนามัยได้รณรงค์สร้างกระแสให้ประชาชนเข้าใจเรื่องประโยชน์ของสารไอโอดีน โดยเลือกเมนู "ส้มตำไอโอดีน” ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน อาทิ น้ำปลาเสริมไอโอดีน เกลือเสริมไอโอดีน มาเป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันโรคขาดไอโอดีนแล้ว ยังช่วยลดน้ำหนักได้อีกด้วย เพราะส้มตำถือเป็นอาหารจานหลักและเป็นที่นิยมของผู้คนเป็นจำนวนมาก มีวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยากและมีส่วนประกอบเป็นผักและผลไม้ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการแก่ร่างกาย เป็นอาหารที่ให้ไขมันต่ำและไม่มีคอเลสเตอรอล และยังมีเส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำที่มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำ ซึ่งจะเพิ่มปริมาณใยอาหารในกระเพาะ ทำให้อิ่มเร็ว ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนตัวของอุจจาระ ทำให้ขับถ่ายของเสียและสารพิษต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ อีกทั้งยังป้องกันโรคท้องผูกและริดสีดวงทวารด้วยเมนูส้มตำไอโอดีนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ร่างกายได้รับสารไอโอดีน เพราะในแต่ละวันร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมไอโอดีนไว้ได้จึงต้องรับประทานอาหารที่มีสารไอโอดีนทุกวันๆละน้อยถึงจะเพียงพอ

นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า ไอโอดีนเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์สมองและการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กที่ได้รับสารไอโอดีนไม่เพียงพอ สมองจะเติบโตช้ากว่าปกติและมีผลต่อสติปัญญา การขาดไอโอดีนในประชาชนทั่วไปทำให้ขาดความกระปรี้กระเปร่า ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย ถ้าขาดไอโอดีนรุนแรงจะเป็นโรคเอ๋อ จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศ กระทรวงสาธารณสุข จึงมีแผนควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนในระยะ พ.ศ.2557-2559 ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดโรคขาดสารไอโอดีน เสริมสร้างสติปัญญาและสุขภาวะที่ดีของทุกกลุ่มวัย ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. การขับเคลื่อนในระดับนโยบาย สร้างความร่วมมือองค์กร ภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 2. เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า มีการผลิตและกระจาย เกลือเสริมไอโอดีนคุณภาพ และบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ 3. ระบบเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในกลุ่มเสี่ยง 4. สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนและหมู่บ้านไอโอดีน ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ มีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน และมีแผนงานควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนในระดับท้องถิ่น 5. ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และการตลาดเชิงสังคมเพื่อส่งเสริมการบริโภคเกลือเสริมไอโอดีนอย่างต่อเนื่อง 6. การศึกษาวิจัยต่างๆ และ 7. มาตรการเสริม โดยสนับสนุนให้มีการบริโภคน้ำดื่มเสริมไอโอดีน ในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้สถานบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนจ่ายยาเม็ดวิตามินเสริมไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดนาน 6 เดือน อย่างต่อเนื่อง

"สำหรับกิจกรรมรณรงค์ในครั้งนี้ กรมอนามัยได้จัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่อง สารไอโอดีนที่มีผลต่อการพัฒนาสติปัญญา เช่น หมู่บ้านไอโอดีนจำลอง การเล่นเกมส์ให้ความรู้ การเลือกใช้เครื่องปรุงรสที่เสริมไอโอดีน พร้อมทั้งสาธิตการปรุงเมนู "ส้มตำไอโอดีน”โดยฑูตไอโอดีน เพื่อรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของสารไอโอดีน และกรมอนามัยขอความร่วมมือในทุกจังหวัดจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันไอโอดีนแห่งชาติ เพื่อเป็นการสร้างกระแสทั่วประเทศ” อธิบดี กรมอนามัย กล่าวในที่สุด