ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มติชน -สปสช.วอน คสช.อนุมัติงบเหมาจ่ายรายหัวผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 48 ล้านคน วงเงิน 146,880 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 3,060 บาท

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงการดำเนินการจัดทำข้อมูลงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวประจำปีงบประมาณ 2558 ว่า สำหรับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2558 ได้จัดทำแล้วเสร็จเตรียมเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจากการพิจารณาตามอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพต่างๆ สรุปว่า ตัวเลขงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2558 ในภาพรวมอยู่ที่ 146,880 ล้านบาท สำหรับดูแลประชาชนในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวน 48 ล้านคน คิดเป็นรายหัวประชากรหัวละ 3,060 บาท จากปี 2557 ที่ได้จำนวน 2,895 บาทต่อหัวประชากร เท่ากับว่างบเหมาจ่ายรายหัวปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 5.7 โดยงบประมาณดังกล่าวจะมีการเสนอในการประชุมชี้แจงงบประมาณประจำปี 2558 ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) โดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช.และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา จะเป็นประธานการประชุม

"หากพิจารณาตัวเลขวงเงินเหมาจ่ายรายหัวจะเห็นว่าวงเงินเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ทั้งอัตราเงินเฟ้อ การขยายการบริการสาธารณสุข เทคโนโลยีทางการแพทย์ต่างๆ รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องเพิ่มขึ้น เพื่อรับกับการบริการที่เพิ่มขึ้นของผู้ป่วย ซึ่งที่ผ่านมางบเหมาจ่ายรายหัวจะเพิ่มขึ้นตลอด โดยเฉพาะช่วงระหว่างปี 2550-2557 ซึ่งเป็นสมัยของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้เพิ่มงบประมาณจากปี 2549 ที่ประชากรหัวละ 1,659 บาทต่อคน เพิ่มเป็น 1,900 บาทต่อคนในปี 2550 และ 2,100 ต่อคนในปี 2551 คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.2 และร้อยละ 10.5 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเพิ่มวงเงินที่มากที่สุด" นพ.ประทีปกล่าว

นอกจากนี้ นพ.ประทีปกล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญ คือ ช่วงปี 2555-2556 มีการแช่แข็งตัวเลขงบเหมาจ่ายรายหัวให้คงที่ 2,756 บาทต่อคน ซึ่งเป็นปัญหามาก เพราะทำให้งบประมาณสนับสนุนหน่วยบริการไม่เพียงพอกับสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อ เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น และการขยายการบริการ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2558 จึงมีความหวังว่า คสช.จะพิจารณาและอนุมัติงบประมาณตามที่ สปสช.เสนอ เพื่อให้ระบบบริการประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 48 ล้านคนเดินหน้า และว่า หากตัวเลขงบเหมาจ่ายรายหัวได้จำนวนน้อยลงจากเดิมจะส่งผลต่อการบริการ ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยโรคไตวาย ที่ สปสช.ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ทั้งล้างไตผ่านช่องท้อง ฟอกเลือด และเปลี่ยนไต ตั้งแต่ปี 2551 จำนวน 40,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต้องใช้งบประมาณดูแลอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 26 มิถุนายน 2557