ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กว่า 33 ปีแล้วที่ได้ทำงานในฐานะ “เจ้าหน้าที่สาธารณสุข” หรือที่เรียกกันคุ้นปากว่า “หมออนามัย” คอยทำหน้าที่ดูแลส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการรักษาเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ให้กับชาวบ้านที่ “สถานีอนามัยบ้านต๋อม” ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต๋อม” (รพ.สต.บ้านต๋อม) ตามนโยบายของรัฐใน ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา

นายสาคร นาต๊ะ

นายสาคร นาต๊ะ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านต๋อม นอกจากทำงานใน รพ.สต.บ้านต๋อม ที่มุ่งมั่นดูแลสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่แล้ว ยังทำงานในตำแหน่ง “นายกสมาคมหมออนามัย” ที่คอยช่วยผลักดันวิชาชีพ “เจ้าหน้าที่สาธารณสุข” เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการดูแลสวัสดิภาพของหมออนามัยที่ทำงานกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับวิชาชีพในระบบสาธารณสุขอื่นๆ

นายสาคร เริ่มเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการผลิตบุคลากรในวิชาชีพการสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวิชาชีพแพทย์ พยาบาล เรียกว่าเป็นการผลิตบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ ทำให้ชาวบ้านได้รับการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคอย่างทั่วถึง เพราะในอดีตนั้นโรคระบาดมีมาก ส่งผลให้มีคนเจ็บป่วยล้มตายเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) โรคเรื้อน และโรคมาลาเรีย เป็นต้น จำเป็นต้องเร่งเข้าควบคุมป้องกัน ทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรค การจัดสุขาภิบาลเพื่อกันการระบาด รวมไปถึงการให้ความรู้ด้านสุขอนามัยที่ถูกต้องกับชาวบ้าน ซึ่งหลักสูตรการเรียนขณะนั้น มีตั้งแต่หลักสูตร 6 เดือน 1 ปี และ 2 ปี จากการเรียนที่ศูนย์ฝึกอบรม จนปัจจุบันได้พัฒนาเป็นวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร โดยกระจายทำงานยัง “สำนักงานผดุงครรภ์” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สุขศาลา” “สถานีอนามัย” และ “รพ.สต.” ในปัจจุบัน ซึ่งในปีนี้ครบ “ 100 ปี หมออนามัย” พอดี

ด้วยหน้าที่ของเจ้าหน้าสาธารณสุขต้องทำตั้งแต่ทำแผล ฉีดยา จ่ายยา ควบคุมประชากรวางแผนครอบครัว ทั้งฉีดยาคุม ใส่ห่วงอนามัย รวมไปถึงการทำคลอด การพ่นยาเพื่อควบคุมยุง ป้องกันไข้มาลาเรีย การป้องกันวัณโรค การให้วัคซีนกับเด็กๆ ในพื้นที่ การดูแลสุขาภิบาล ทำให้เกิดความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับชาวบ้าน อีกทั้งในอดีตโรงพยาบาลมีจำนวนไม่น้อย อย่างมากมีเพียงจังหวัดละ 1 แห่งเท่านั้น ซึ่งโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขณะนั้นยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นงานด้านดูแลรักษาพยาบาลและสาธารณสุขจึงตกเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งสิ้น ที่ได้กระจายอยู่ตามสถานีอนามัย 9,723 แห่งทั่วประเทศ สาเหตุนี้เวลาไปไหนมาไหนชาวบ้านจึงมักเรียกติดปากว่า “คุณหมอ” จนเป็นที่มาคำว่า “หมออนามัย”

แต่ช่วงระยะเวลาที่เปลี่ยนผ่านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บทบาทการทำงานของหมออนามัยได้เปลี่ยนไปมาก นายกสมาคมหมออนามัย ยอมรับว่า ช่วงระยะการทำงานที่ผ่านมาที่เห็นได้ชัดคือ หลังการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เนื่องจากมีการจัดทำตัวชี้วัด เพื่อให้เกิดมาตรฐานการดูแลประชาชน อย่างเช่น การกำหนดมาตรฐานการทำงาน ต้องมีทีมสหวิชาชีพร่วมบริการ อย่าง นักกายภาพบำบัด ทันตแพทย์ และเภสัชกร เป็นต้น ส่งผลดีต่อชาวบ้านเพราะทำให้ได้รับการดูแลเป็นมาตรฐาน ถูกติดตามรักษาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการบันทึกข้อมูลสุขภาพ แต่มีข้อเสียคือทำให้ภาระงานมากขึ้น ซึ่งในช่วงแรกร้อยละ 80 จะเป็นของทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่ภายหลังได้มีการหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีการปรับลดลง เพื่อลดผลกระทบต่อการบริการชาวบ้านในเชิงรุก

นอกจากนี้จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตวิชาชีพการสาธารณสุขต่อจากนี้ คือการออก พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. 2556 ที่พึ่งประกาศใช้ ซึ่งระหว่างนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเดินหน้าตามกฎหมาย ทั้งการออกกฎหมายลูก การตั้งคณะกรรมการสภาวิชาชีพการสาธารณสุข ที่ไม่แต่เป็นเพียงยกระดับมาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขที่นำไปสู่การพัฒนาเท่านั้น แต่ยังเป็นการดูแลบุคลากรในวิชาชีพนี้ ซึ่งคาดว่าทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 70,000 คน ให้มีกฎหมายรองรับ โดยในจำนวนนี้ราว 40,000-50,000 คน อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข   

“ในบรรดาสายวิชาชีพในระบบสาธารณสุข วิชาชีพการสาธารณสุข เป็นวิชาชีพหลังสุดที่พึ่งมีกฎหมายรองรับ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องมาตลอด แต่ถูกขัดขวาง อีกทั้งในส่วนของค่าตอบแทนยังอยู่ในระดับต่ำสุดของสายบริการในส่วนภาควิชาชีพ ไม่นับรวมสายสนับสนุน ซึ่งได้เพียง 1,800 บาทต่อเดือน ส่วนเงินเดือนเป็นไปตามขั้นระบบราชการปกติ ซึ่งในส่วนค่าตอบแทนนี้ยังขึ้นอยู่กับเงินบำรุงของ รพ.สต.อีก ทำให้เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งไม่ได้รับ ได้เพียงแค่เงินเดือนเท่านั้น”

สำหรับความก้าวหน้าในชีวิตราชการของหมออนามัยนั้น นายสาคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมหมออนามัยและเครือข่ายวิชาชีพการสาธารณสุข ได้เสนอกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติตำแหน่งซี 7 และ 8 ให้กับหมออนามัย แม้ว่าจะได้รับการตอบรับ แต่กลับกำหนดเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดในการเลื่อนขั้น อาทิ ต้องมีผู้ใต้บังคับบัญชาไม่น้อยกว่า 4 คน มีพยาบาล และสหวิชาชีพประจำยัง รพ.สต. ส่งผลให้โอกาสการเข้าสู่การเลื่อนน้อยมาก แม้แต่นักการสาธารณสุขที่เป็นพยาบาลวิชาชีพก็ตาม

นายสาคร กล่าวว่า จากปัญหาข้างต้นส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่ที่จบวิชาชีพการสาธารณสุขเลือกที่จะทำงานที่ รพ.สต.ลดลง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากค่าตอบแทนที่น้อยแล้ว ยังมีปัญหาภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการขยายช่วงเวลาทำการอย่างวันเสาร์อาทิตย์ ซึ่ง รพ.สต.บางแห่งมีหมออนามัยประจำแค่ 2 คน ไม่เกิน 5 คน ซึ่งจะส่งผลต่อปัญหาขาดแคลนหมออนามัยประจำ รพ.สต.ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันค่าเฉลี่ยหมออนามัยต่อประชากรอยู่ที่ 1:1,250 ที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่แล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่นับรวมการรุกคืบของวิชาชีพต่างๆ ในระบบสาธารณสุขที่ต่างกำหนดกรอบการทำงาน ซึ่งยอมรับว่าหมออนามัยเองความเป็นจริงก็ไม่อยากล้ำเส้นวิชาชีพอื่น แต่อย่างกรณีการฉีดยา และให้วัคซีน รพ.สต.ซึ่งตามข้อมูลในระบบกระทรวงสาธารณสุข มี รพ.สต. 900 แห่ง ที่ไม่มีพยาบาลวิชาชีพประจำอยู่ แต่ในข้อเท็จจริงมีจำนวนถึงกว่า 2,000 แห่ง เพราะจำนวนกว่าพันแห่งเป็นเพียงการแขวนตำแหน่งเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องถามกลับว่า หากหมออนามัยไม่ทำ แล้วใครจะเป็นคนทำ

จากปัญหาที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาทางแกนนำวิชาชีพหมออนามัยจึงได้มีการพูดคุยกัน และได้มีการจัดประชุม 4 ภาค เพื่อประเมินสถานการณ์และกำหนดทิศทางบทบาทหน้าที่หมออนามัยในทศวรรษหน้าว่าควรเป็นอย่างไร ซึ่งได้จัดประชุมไปแล้ว คือที่ จ.อุดรธานี นครนายก พิจิตร และระนอง ที่อยู่ระหว่างประมวลความเห็น ซึ่งหลังจากนี้จะรวบรวมความเห็นจากท้องถิ่น ส่วนราชการ และภาคประชาชน ก่อนนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเดินหน้า พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข เพื่อพัฒนามาตรฐานวิชาชีพหมออนามัย

นายกสมาคมหมออนามัย ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า คำว่าหมออนามัย ส่วนตัวมองว่าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์และรู้สึกภูมิใจ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดด้านค่าตอบแทนและความก้าวหน้าทางวิชาชีพ เพราะแม้เราไม่ใช่หมอ แต่ทำงานเหมือนหมอ และยังทำมากกว่าด้วยซ้ำในสายตาชาวบ้าน จึงพากันเรียกว่าหมออนามัย สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาที่มีต่อเรา ดังนั้นในช่วง 7-8 ปี ที่นับถอยหลังอายุราชการ จึงอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพในการพัฒนาและผลักดันวิชาชีพการสาธารณสุขให้เกิดความก้าวหน้า