ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขอบคุณภาพ จาก facebook มูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อมนุษยธรรม

เมื่อพูดถึง “โรงพยาบาลอุ้มผาง” คนส่วนใหญ่มักรู้จักดีในฐานะ “โรงพยาบาลชายขอบ” ที่มีปัญหาขาดทุนทุกปี จากการรับดูแลและรักษาพยาบาลคนไทยที่รอพิสูจน์สิทธิและสถานะ และคนต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่ข้ามมารักษาฝั่งไทย แต่ใครจะรู้ว่า โรงพยาบาลติดชายแดนเล็กๆ แห่งนี้ กลับเป็นโรงพยาบาลที่ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องกับยาที่เหลือของผู้ป่วย ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินยาไม่ครบตามแพทย์สั่ง กินยาไม่ถูกต้อง ที่นักวิชาการมักเรียกว่า “ยาขยะ”

ด้วยจุดเริ่มต้นจากโครงการรณรงค์ลดยาขยะของทาง “สภาเภสัชกรรม” เมื่อหลายปีที่แล้ว ซึ่งมีการนำเสนอมูลค่ายาเหลือทิ้งแบบสูญเปล่าของประเทศไทยกว่าพันล้านบาทต่อปี ได้สร้างแรงจูงใจให้กับ “ภก.เทวฤทธิ์ ประเพชร หัวหน้าเภสัชกรโรงพยาบาลอุ้มผาง” ที่มองเห็นบทบาทเภสัชกรในการทำหน้าที่เพื่อช่วยลดปริมาณยาเหลือทิ้งของประเทศ จึงได้ดำเนินโครงการลดยาเหลือทิ้งในพื้นที่จนเห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการประหยัดงบประมาณจากจัดซื้อยาที่ลดลง การลดปริมาณยาเหลือทิ้ง และที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักให้กับชาวบ้านในการกินยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง

ภก.เทวฤทธิ์ เริ่มต้นเล่าว่า การดำเนินโครงการเพื่อลดยาเหลือทิ้งในพื้นที่นั้น เดิมเป็นโครงการที่ทางสภาเภสัชกรรมได้ทำการรณรงค์ แต่ทำเพียงแค่ปีเดียวแล้วเปลี่ยนไปรณรงค์ปัญหายาในด้านอื่นต่อ มองว่ามูลค่ายาขยะที่ถูกทิ้งกว่าพันล้านบาท หากลดการเหลือทิ้งได้ด้วยการสร้างความตระหนัก ใช้อย่างคุ้มค่า น่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศได้ อย่างที่โรงพยาบาลอุ้มผางแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายด้านยาอยู่ที่ 10-12 ล้านบาท หากทำโครงการนี้จะช่วยประหยัดงบประมาณลงได้ จึงได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องอย่างจริงจัง จนปีนี้เข้าปีที่ 4 แล้ว

แรกเริ่มการดำเนินโครงการช่วงแรก เริ่มจากการติดบอร์ดเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ปัญหายาเหลือทิ้ง ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วยเอง ที่กินยาไม่หมด ไม่ครบตามหมอสั่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน ความดัน ที่ต้องรับยาต่อเนื่อง แต่เมื่อกินยาไม่หมด เมื่อมาหาหมอครั้งใหม่ตามที่นัด จะได้รับยาชุดใหม่ซึ่งเป็นยารายการเดียวกันไปเพิ่มเติมอีก ส่งผลให้เกิดการสะสมยาจนกลายเป็นขยะในบ้าน ดังนั้นจึงได้ใช้กลยุทธ์ง่ายๆ โดยขอให้ผู้ป่วยเวลามาหาหมอทุกครั้ง ให้นำยาที่เหลือติดตัวมาด้วย นอกจากจะได้ตรวจทานว่ามียาคงเหลืออยู่เท่าไหร่แล้ว ยังเป็นการสอบทานการกินยาของผู้ป่วย ว่ากินยาครบถูกต้องตามคุณหมอสั่งหรือไม่ ขณะเดียวกันก็ยังทำให้ยาที่จ่ายไปคุ้มค่า เพราะถูกใช้ในการรักษาให้กับผู้ป่วยจริงๆ ส่วนการลดค่าใช้จ่ายด้านยาให้กับโรงพยาบาล ที่ไม่ต้องจ่ายยาใหม่กรณีผู้ป่วยมียาเก่าเหลือหรือจ่ายยาเพิ่มสมทบ เป็นเพียงแค่ผลพลอยได้เท่านั้น

“จุดประสงค์ของการทำโครงการเพื่อมุ่งให้ผู้ป่วยกินยาถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลต่อการรักษาโรคของผู้ป่วยเอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องกินยาต่อเนื่องที่ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ ทำให้บางครั้งหลงๆ ลืมๆ ไม่ได้กินยา หรือกินไม่ครบ นอกจากนี้ที่นี่คนส่วนหนึ่งเป็นคนชายขอบ ชาวไทยภูเขา ไม่รู้หนังสือ อีกทั้งลูกหลานไปทำงานในเมืองกันหมด ไม่มีคนช่วยดู บางครั้งจึงกินยาเกินบ้าง ขาดไปบ้าง ซึ่งการให้ผู้ป่วยนำยาเก่าที่เหลือมานั้น ทำให้สอบทานการกินยาได้ และแนะนำวิธีการกินยาที่ถูกต้องกลับไป รวมไปถึงการปรับวิธีการสอนกินยาให้กับผู้ป่วย”  

ภก.เทวฤทธิ์ บอกต่อว่า หน้าที่การตรวจยาที่เหลือและสอบทานยาเป็นหน้าที่ของเภสัชกร ซึ่งในการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยตามหมอสั่งทุกครั้ง จะนำยาเก่าของผู้ป่วยที่ติดตัวมาด้วยมาตรวจก่อน ดูประเภทยาและวันหมดอายุ หากเหลือเท่าไหร่ก็จะใส่ยาใหม่เพิ่มเติมให้เพียงพอจนถึงวันนัดตรวจครั้งหน้า ยอมรับว่าอาจทำให้ภาระงานของเภสัชกรมากขึ้น แต่ถือเป็นหน้าที่ ทั้งนี้คำว่าภาระงาน ส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ซึ่งทางเภสัชกรต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ทำตั้งแต่แรกเท่านั้น เรื่องนี้จึงมองว่าเป็นภาระงานคงไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ได้มายอมรับว่าคุ้มค่าเพราะเป็นการดูแลผู้ป่วย

“การดำเนินงานช่วงแรกพบว่าผู้ป่วยมียาที่เหลือติดอยู่บ้านเยอะมาก รวมแล้วนับแสนบาท ทำให้โรงพยาบาลประหยัดค่ายาที่ต้องเพิ่มในส่วนนี้ลงได้นับแสนบาทต่อเดือนเช่นกัน โดยแต่ละปีโรงพยาบาลอุ้มผางมีค่าใช้จ่ายด้านยา 10-12 ล้านบาท เพียงเฉพาะโรงพยาบาลอุ้มผางแห่งเดียวก็มียอดยาเหลือทิ้งสูงขนาดนี้แล้ว ซึ่งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็น่าจะมียาเหลือทิ้งจำนวนมาก” หัวหน้าเภสัชกรโรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าว

จากผลที่ได้มานี้ ภก.เทวฤทธิ์ กล่าวว่า จึงได้มีการขยายผลเรื่องนี้ออกไป โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลในการขอรับบริจาคยาเหลือทิ้งจากผู้ป่วยและโรงพยาบาลในพื้นที่อื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักต่อปัญหายาเหลือทิ้งเหล่านี้ ทำให้มียาที่รับบริจาคถูกจัดส่งมาจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่มาก ทั้งนี้ยาที่ได้รับบริจาคมานั้น ทางเภสัชกรโรงพยาบาลจะช่วยกันคัดเลือกยาตามเกณฑ์พิจารณาที่ได้มีการจัดทำร่วมกันระหว่างแพทย์และเภสัชกร เพื่อให้ได้ยาที่เหมาะสม ป้องกันปัญหายาเสื่อมคุณภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วย

ทั้งนี้เกณฑ์การพิจารณายาที่รับบริจาคจะแยกเป็น 4 กลุ่ม พิจารณาจากสภาพยาภายนอก คือ กลุ่มยาทั่วไป อย่างยารักษาไข้หวัด อาการไอ รักษาโรคไม่รุนแรง จะดูจากวันหมดอายุและสภาพฟรอยด์บรรจุ สามารถใช้จ่ายยาให้กับผู้ป่วยไปจนหมดอายุที่กำหนด

กลุ่มยารักษาโรคเรื้อรังและกลุ่มยาฆ่าเชื้อ กลุ่มนี้จะดูวันหมดอายุที่ต้องมากกว่า 6 เดือน เพราะจะมีผลต่อการรักษาผู้ป่วยที่ต้องควบคุมภาวะโรคต่อเนื่อง ดังนั้นหากวันหมดอายุที่กำหนดเหลือต่ำกว่า 6 เดือน จะคัดทิ้งไม่ใช้ และกลุ่มยาจำเป็นต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วย ยานี้จะตั้งอายุยาคงเหลือไว้ที่ 1 ปี หากต่ำกว่า 1 ปี จะไม่ใช้ เพราะไม่สามารถควบคุมการจัดเก็บของหนวยบริการได้

“เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกยาที่ได้กำหนดขึ้น หากถามว่าเป็นเกณฑ์ที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นเพื่อให้ได้ยาคุณภาพหรือไม่ คงต้องตอบว่าไม่ เพราะเป็นเพียงแค่เกณฑ์การพิจารณาภายนอก ซึ่งหากจะให้ทราบถึงคุณภาพยาที่บริจาคชัดเจนจะต้องส่งวิเคราะห์ตรวจยังห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายสูงถึงสามพันถึงสี่พันบาทต่อหนึ่งตัวอย่าง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับโรงพยาบาล จึงต้องใช้เกณฑ์การตรวจกายภาพยาเป็นหลัก”  หัวหน้าเภสัชกรโรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าว พร้อมย้ำว่า การทำเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งเพื่อต้องการลดค่าใช้จ่าย หรือลดภาวะขาดทุนของโรงพยาบาล เพียงแต่อยากกระตุ้นให้สังคมเกิดความตระหนัก เพราะแค่โรงพยาบาลอุ้มผางซึ่งเป็นโรงพยาบาลเล็กๆ ยังมีผู้ป่วยยาเหลือใช้ขนาดนี้

ด้าน นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าวว่า โครงการลดยาขยะหรือยาเหลือทิ้งของผู้ป่วยโรงพยาบาลอุ้มผาง เกิดจากแนวคิดของภก.เทวฤทธิ์ หัวหน้าเภสัชกร ซึ่งในปีที่เริ่มต้นนั้น ทางฝ่ายเภสัชกรได้รับโควต้าไปดูงานประเทศจีนจากองค์การเภสัชกรรม 2 ที่นั่ง มูลค่าสองหมื่นบาท จึงเสนอขอรับเป็นเงินแทนเพื่อนำมาจัดซื้อถุงผ้าสำหรับให้ผู้ป่วยใส่ยาเหลือทิ้ง หรือกินไม่หมดกลับมาให้กับโรงพยาบาล เป็นการลงทุนไม่มาก แต่ผลที่ได้กลับมาคุ้มค่า นอกจากช่วยเหลือผู้ป่วยในการสอบทานการกินยาแล้ว ยังทำให้ยาซึ่งทางโรงพยาบาลได้จ่ายไปได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ไม่เหลือทิ้ง ซ้ำยังช่วยลดงบประมาณจัดซื้อยาของโรงพยาบาล

“ช่วงแรกที่ทางหัวหน้าเภสัชกรได้เสนอโครงการเข้ามา ส่วนตัวในฐานะที่เป็นนักจัดการมองว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะทำให้ทรัพยากรถูกใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสียของประเทศ ซึ่งสิ่งที่นักวิชาการระบุถึงมูลค่ายาแต่ละปีที่ประเทศต้องสูญไปแบบเปล่าประโยชน์จะไม่มีความหมายอะไรเลย หากนักจัดการไม่นำมาปฏิบัติ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าว และปิดท้ายว่า เป้าหมายหลักโครงการนี้ ซึ่งได้มีการขยายการรับบริจาคยา ไม่ได้อยู่ที่การลดค่าใช้จ่ายโรงพยาบาล แต่ต้องการกระตุ้นเตือนให้โรงพยาบาลต่างๆ และผู้ป่วยตระหนักต่อมูลค่ายาที่สูญเสียไปในแต่ละปี นับเป็นหน้าที่ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจตามโครงการดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่ มูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อมนุษยธรรม เลขที่ 159 หมู่ 1 ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก 63170  โทร. 055-561270-2 หรือ E-mail : umh@umh-foundation.com