ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวนโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวในห้วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ มีความชัดเจนว่าทหารต้องการ“จัดระเบียบ” แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยมีพัฒนาการเป็นลำดับ

ในช่วงแรก มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ถัดจากนั้นมีการตรวจจับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในหลายพื้นที่ จนเกิดปรากฏการณ์แรงงานชาวกัมพูชาตื่นตระหนก พากันหลั่งไหลกลับประเทศนับแสนคน เกิดผลกระทบกับภาคธุรกิจอย่างเฉียบพลัน ขณะที่ตัวนายจ้างเองก็หวั่นว่าจะมีความผิดฐานใช้แรงงานเถื่อน จนท้ายที่สุด คสช. ก็ต้องออกมาส่งสัญญาณอีกครั้งว่าไม่มีนโยบายกวาดล้าง เพียงแต่ต้องการจัดระเบียบให้เข้าสู่ระบบเท่านั้น พร้อมกับออกมาตรการผ่อนผันให้นายจ้างจัดทำบัญชีแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในความดูแลไว้ก่อน เพื่อรอการดำเนินการในขั้นต่อไป

ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ประจำปี 2557 ซึ่งประเทศไทยถูกลดอันดับจาก Tier2 watch list มาอยู่ Tier3 ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ จนเกิดความวิตกว่าจะกระทบการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลและกุ้ง ประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์กลายเป็นวาระคนในสังคมให้ความสนใจขึ้นมาทันที

ถัดจากนั้นไม่กี่วัน คสช.เองก็ตอบสนองการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ด้วยการแปลงร่างคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว มาเป็น คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ และมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงานใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี ตราด และสุรินทร์ เพื่อรองรับแรงงานกัมพูชาที่เดินทางออกนอกประเทศไปก่อนหน้านี้ให้กลับเข้ามาอีก

ขณะเดียวกัน ในภาพใหญ่ก็สั่งการให้จัดตั้ง ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในทุกจังหวัด เพื่อออกใบอนุญาตทำงานชั่วคราวแก่แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงาน ให้มาขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง โดยนำร่องที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นแห่งแรกในวันที่ 30 มิ.ย. 2557 

สำหรับบรรยากาศการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าววันแรกที่ สำนักงานประกันสังคม จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ เป็นไปอย่างคึกคัก บรรดานายจ้างในพื้นที่พาลูกจ้างทั้งชายและหญิงมาต่อคิวขึ้นทะเบียนกันยาวเหยียดนับพันคน 

ทั้งนี้ ขั้นตอนการลงทะเบียนนั้น เมื่อเดินเข้าประตูมา จะมีจุดเตรียมความพร้อมก่อน โดยเอกสารที่ใช้ในการลงทะเบียนคือหนังสือรับรองที่นายจ้างออกให้แก่ลูกจ้าง และสำเนาทะเบียนนิติบุคคลของบริษัท จากนั้นจึงไปจุดที่ 1. คือจุดรับบัตรคิว เมื่อรับบัตรคิวเสร็จ ก็จะไปจุดที่ 2.คือจุดตรวจปัสสาวะและชั่งน้ำหนัก เมื่อตรวจเสร็จแล้วจึงไปยังจุดที่ 3.คือจุดตรวจเอกสาร และจุดที่ 4.ถ่ายรูปทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เมื่อได้บัตรเสร็จแล้วก็ไปยังจุดที่ 5.คือจุดเอ็กซเรย์  เมื่อเอ็กซเรย์เสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี ขณะที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็จัดล่ามภาษาต่างๆมาบรรยายสิทธิและการคุ้มครองที่แรงงานจะได้รับด้วย

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้น รวมทั้งหมด 1,305 บาท/คน แบ่งเป็นค่าใบทร.38/1 อัตรา 80 บาท ค่าใบอนุญาตทำงานชั่วคราว 225 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และค่าประกันสุขภาพ 500 บาท และในส่วนของบุตร หรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว จะมีค่าใช้จ่าย 1,080 บาท แบ่งเป็น ค่าใบทร.38/1 อัตรา 80 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท และค่าประกันสุขภาพ 500 บาท

อย่างไรก็ตาม การขึ้นทะเบียนครั้งนี้ ตัวแรงงานต่างด้าวจะได้ใบอนุญาตทำงานชั่วคราว 2 เดือนเท่านั้น หลังจากนี้แล้วยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติอีกครั้ง เพื่อที่จะได้รับใบอนุญาตทำงาน 1 ปีต่อไป โดยการขึ้นทะเบียนมีกำหนดเวลาเพียง 30 วัน คือระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. 2557- 30 ก.ค. 2557 ซึ่งหลังจากนี้หากนายจ้างยังไม่พาลูกจ้างมาขึ้นทะเบียนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

เมื่อเดินสำรวจ กวาดตามองดูเหล่าแรงงานข้ามชาติที่มาขึ้นทะเบียน บางรายก็มีสีหน้าเคร่งเครียด เพราะด้วยจำนวนคนที่เยอะทำให้ต้องรอคิวกันนานพอสมควร บางรายเมื่อถูกทักทายซักถามความเป็นมา ก็เอาแต่ส่ายหน้า ส่งสัญญาณว่าฟังภาษาไทยไม่ออก หรือบางคนอาจจะฟังออกแต่ไม่อยากแสดงตัวก็เป็นได้ โดยเฉพาะแรงงานชาวพม่าซึ่งนั่งกันเป็นกลุ่มๆ เมื่อถูกทักทายถามว่าใครพูดภาษาไทยได้บ้าง สิ่งที่ตอบรับมาคือความเงียบกริบเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวบางคนก็ยินดีคุยกับคนแปลกหน้าเช่นกัน แต่ออกอาการประหยัดถ้อยคำหรือเขินอายเล็กน้อย

ซอ แรงงานกัมพูชา

ซอ” หนุ่มกัมพูชาวัย 25 ปีที่มาขึ้นทะเบียนในวันนี้เล่าว่า เพิ่งเข้ามาทำงานในเมืองไทยได้ 2-3 เดือนนี้เอง โดยใช้วิธีทำพาสปอร์ตที่ชายแดนแล้วเข้ามาทำงานในโรงงานโดยยังไม่มีใบอนุญาตทำงานแต่อย่างใด

“ตอนผมเข้ามาไม่เจอว่าโดนเรียกเก็บเงินอะไรนะ ผมเข้ามาแบบมีพาสปอร์ต แล้วเพื่อนๆก็ชวนมาทำงานในโรงงาน ตอนที่แรงงานพากันกลับประเทศ ผมไม่ได้กลับไปหรอก เพราะมีพาสปอร์ตอยู่ แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน พอเขาเปิดให้ลงทะเบียน หัวหน้างานก็เลยพามาทำบัตร รวมๆที่มาวันนี้ก็ 65 คน”ซอ กล่าว

เช่นเดียวกับ “นิต ศักดิ์” แรงงานชาวกัมพูชาอีกคนที่มาขึ้นทะเบียนวันนี้ กล่าวว่า มาทำงานก่อสร้างอยู่ในเมืองไทยมา 4-5 ปีแล้ว ที่ผ่านมาเคยได้ใบอนุญาตทำงาน 4 ปี แล้วช่วงนี้ใบอนุญาตหมดอายุพอดี เลยมาขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตใหม่อีกครั้ง

“บ้านผมอยู่ปอยเปต ตรงข้ามตลาดโรงเกลือนี่เอง เท่าที่อยู่มา 4-5 ปี นายจ้างก็ถือว่าดีนะ ออกค่าเช่าบ้าน ค่าอาหารให้ ให้ค่าแรงอีกวันละ 400 บาท ที่มาขึ้นทะเบียนวันนี้นายจ้างก็ออกเงินให้ก่อน แล้วค่อยไปทยอยหักเงินคืนทีหลัง”แรงงานผู้นี้ กล่าว

ด้าน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสนาธิการทหารบก ในฐานะประธานอนุกรรมการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ พร้อมด้วยนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และ นายอู วิน หม่อง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ประจำประเทศไทย ก็ได้เดินทางไปตรวจความเรียบร้อยในการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าววันนี้ด้วย โดยพล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า หลังจากนี้จะขยายศูนย์บริการในลักษณะนี้ไปยัง 22 จังหวัดที่ติดชายทะเล  และขอเตือนผู้ที่หาผลประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าวเพราะเป็นการทำลายประเทศชาติ

ขณะที่ นายจีรศักดิ์ กล่าวว่าปี 2556 ที่ผ่านมา มีนายจ้างในจังหวัดสมุทรสาคร แจ้งต้องการนำแรงงานต่างด้าวเข้าระบบกว่า 270,000 คน และเข้าสู่ระบบการจ้างงานแล้ว 190,000 คน คาดว่าส่วนต่างที่เหลือจะมาเข้าสู่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนประมาณ 80,000-100,000คน