ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข จัดอบรมนายแพทย์สาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ในสังกัดทั่วประเทศทุกระดับ สร้างความรู้ความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานรักษาวินัย เพื่อป้องกันและปราบปรามทุจริตและการประพฤติมิชอบในกระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งปลูกจิตสำนึกเจ้าหน้าที่ร่วมต่อต้านทุจริต เผยสถิติในปี 2550-2553 มีเจ้าหน้าที่สธ.ทุจริตหน้าที่ 44 ราย  

วันนี้ (3 กรกฏาคม 2557) ที่โรงแรมสตาร์ จ.ระยอง นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดอบรมผู้บริหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามทุจริตฯ จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทุกระดับ จำนวน 250 คน ระหว่างวันที่ 3-4 กรกฏาคม 2557 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในราชการ และปลูกจิตสำนึกในการต่อต้านทุจริต สนองคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 69/2557 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาช้านาน ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นยังไม่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังทวีความรุนแรง มีความซับซ้อนยากต่อการตรวจสอบขึ้นมากเรื่อยๆ จากผลการจัดอันดับค่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น โดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบว่าประเทศไทยมีคะแนนดัชนีลดลง  ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541-2554 อยู่ในระดับต่ำที่ 32 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ในปีพ.ศ.2555 มี 37คะแนน ในปีพ.ศ.2556 ลดลงเหลือ 35 คะแนน สะท้อนให้เห็นประเทศไทยยังมีปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับสูงและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นจะต้องเร่งแก้ไขป้องกันเป็นการด่วน

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตฯในส่วนกลางเป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันการทุจริตอย่างจริงจัง และจะขยายไปยัง 12 เขตบริการสุขภาพในภูมิภาค และในกรุงเทพมหานครด้วย โดยขณะนี้ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ในระยะที่ 2 พ.ศ.2557-2560 มี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ปลูกและปลุกจิตสำนึกให้บุคลลากรสาธารณสุขทุกระดับร่วมกันป้องกันและต่อต้านการทุจริต เน้นปรับเปลี่ยนฐานคิดและใช้หลักธรรมะเข้ามาช่วย ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการ 2.บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จะฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขเพื่อให้เป็นหูเป็นตาในการสอดส่องต่อต้านทุจริตในพื้นที่ 3.พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการเฝ้าระวังทุจริต 4.พัฒนาระบบการบริหารจัดการโดยเฉพาะในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ในกลุ่มยา เวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์การแพทย์ให้โปร่งใส และ5.การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง กฎหมาย แนวปฏิบัติระเบียบที่เกี่ยวข้อง

“จากการวิเคราะห์ปัญหาทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงพ.ศ.2550-2553 พบเจ้าหน้าที่กระทำผิด รวม 44 คน ส่วนใหญ่เป็นระดับปฏิบัติงาน และปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเงิน เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งการอบรมครั้งนี้ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ อาทินายภาส ภาสสัทธา อดีตรองเลขาธิการฯ ป.ป.ช. นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นวิทยากรให้ความรู้ มั่นใจว่าหากบุคลากรมีความเข้าใจปัจจัยสาเหตุการเกิดคอร์รัปชั่นที่ถูกต้องครบถ้วน โอกาสการทุจริต ไม่โปร่งใสก็จะลดลง นำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้ในที่สุด” นายแพทย์ณรงค์กล่าว