ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยโพสต์ -ปลัด สธ.เผยรอมีสภานิติบัญญัติ เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ยา ทันที เพิ่มโทษปรับผู้ทำผิดเป็นแสนบาท จำคุก 3 เดือน จากเดิมปรับแค่ 3,000-6,000 บาท และให้อำนาจ อย.ระงับใบอนุญาตทันทีหากพบว่าทำผิด ด้าน อย.ยันข้อมูลติดตามผลการใช้ยาพาราเซตามอลยังไม่พบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องลดโดส

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ สธ.ได้บรรจุการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขมาแล้วนั้น เข้าไปในแผนการปรับปรุงกฎหมายสำคัญๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่เตรียมเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว โดยหากมีการตั้งสภานิติบัญญัติเรียบร้อยแล้วก็สามารถเสนอได้ทันที

ด้าน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ายังมีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยา แม้ว่าจะปรับลดขั้นตอนลงมาแล้วก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องการเตรียมเอกสารประกอบการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ในการเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 นั้น เชื่อว่าจะทำให้กระบวนการขึ้นทะเบียนยาทุกประเภทเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น และมีการดูแลเข้มข้นขึ้น โดยมีการเพิ่มโทษปรับหากไม่ดำเนินการให้ได้มาตรฐาน จากเดิมที่ปรับน้อยเพียง 3,000-6,000 บาทเท่านั้น จะเพิ่มเป็นปรับสูงสุด 100,000 บาท โทษจำคุก 3 เดือน ที่สำคัญให้อำนาจ อย.ระงับใบอนุญาตประกอบการได้ทันทีหากไม่ดำเนินการ

เลขาธิการ อย.กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนยาสมุนไพรไทย เดิมจะพบปัญหามาก ว่าขาดผลการศึกษาสรรพคุณยา แต่พอมีการปรับลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนยาลง แต่ก็ยังพบว่ามีปัญหาเรื่องเอกสารประกอบการพิจารณา การขาดข้อมูลรับรองคุณภาพ เพราะฉะนั้นหลักการแก้ไข พ.ร.บ.ยาแล้ว การขึ้นทะเบียนยาสมุนไพรน่าจะดีขึ้น เพราะขณะนี้มีผลการศึกษาสรรพคุณยาสมุนไพรออกมามากขึ้นแล้ว

ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิ การ อย. กล่าวถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังการใช้ยาพาราเซตามอลในประเทศไทย หลังจากที่ประเทศสภารัฐอเมริกาประกาศลดปริมาณยาพาราเซตามอลลงในช่วงที่ผ่านมา ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลหลังประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศลดปริมาณยาพาราเซตามอลนั้น พบว่าเป็นการลดปริมาณยาพาราเซตามอลที่ผสมในยาแก้ปวดชนิดรุนแรง 3 ตัว และถือเป็นยาเสพติดให้โทษด้วย ซึ่งยาตัวดังกล่าวไม่มีการผลิตหรือขายในประเทศไทยแต่อย่างใด ส่วนกรณีของยาพาราสูตรเดี่ยวที่มีความกังวลว่าปริมาณยาที่มากจะส่งผลต่อสุขภาพนั้น ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่ได้ปรับลดปริมาณลง แต่อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลว่าควรจะปรับลดดีหรือไม่ แม้แต่ประเทศอังกฤษเองก็ยังไม่ได้ปรับลด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยเองถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการปรับลดปริมาณยาพาราเซตามอลต่อเม็ดลง แต่ทางคณะอนุกรรมการทบทวนตำรับยาได้หยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมด้วยเช่นกัน ขณะที่ศูนย์ติดตามผลกระทบจากการใช้ยาก็ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งยังไม่พบว่าเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนแต่อย่างใด