ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ทุ่มงบประมาณ 120 ล้านบาท พัฒนาโรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด หวังให้บริการประชาชน 5 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่างและพื้นที่ใกล้เคียง เผยสถิติในรอบ 4 ปี พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในพื้นที่ปีละ 5,000 -7,000 ราย อันดับ 1 คือมะเร็งเต้านม

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 57 นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวหลังเป็นประธานเปิดศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็ง ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ว่า ขณะนี้โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันมากว่า 10 ปี รองลงมาคือ โรคติดเชื้ออื่นๆ และอุบัติเหตุ แนวโน้มยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดในปี 2555 ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งรวม 63,272 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ถึงร้อยละ 20 กว่าครึ่งเป็นชาย กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งแก้ไข โดยในปี 2556-2560 ได้พัฒนาระบบบริการ แบ่งออกเป็นเขตบริการสุขภาพมีทั้งหมด 12 เขตภูมิภาค ดูแลประชากรสัดส่วนเท่าๆ กันคือประมาณ 5 ล้านคน รวมเขตละ 5-7 จังหวัด และอีก 1 เขต กทม. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ใกล้บ้าน และกำหนดให้ทุกเขตฯ จัดบริการสาขาเฉพาะทาง 10 สาขา เช่นโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ สุขภาพจิตและจิตเวช ทารกแรกเกิด จักษุวิทยา โรคไต เป็นต้น โดยพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลที่อยู่ภายในเขตฯ เป็นเครือข่ายให้บริการร่วมกัน จัดอุปกรณ์เครื่องมือทางด้านการแพทย์ที่ทันสมัย ให้มีความพร้อมสามารถดูแลรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่โรคขั้นพื้นฐานจนถึงโรคที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีชั้นสูงทันสมัย ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการได้ง่ายและรวดเร็ว

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินการแต่ละเขตบริการฯ ช่วง 1 ปีมานี้ มีความก้าวหน้า โดยในเขตบริการสุขภาพที่ 2 มี 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก เพชรบูรณ์ และสุโขทัย ได้ยกระดับโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ที่สุดในเขตฯ และให้บริการรักษาโรคมะเร็งมาตั้งแต่ปี 2553 ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด ภายในเขตแบบครบวงจร มาตรฐานสากล โดยได้จัดสรรงบประมาณ 120 ล้านกว่าบาท จัดซื้อเครื่องมือที่ทันสมัย อาทิ เครื่องฉายรังสี เครื่องจำลองการรักษาแบบ 3 มิติ (CT Simulator) เครื่องเร่งอนุภาค ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็ง โดยไม่มีผลต่อเนื้อเยื่ออื่น เครื่องฉายรังสีระยะใกล้ เครื่องใส่แร่ ภายหลังได้รับการรักษาแล้วในรายที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน สามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งจะทยอยเปิดในเขตบริการสุขภาพอื่นๆ ต่อไป

ด้านนายแพทย์ศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช กล่าวว่า ในเขตบริการสุขภาพที่ 2 พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ 5,000 -7,000 ราย อันดับ 1 คือมะเร็งเต้านม รองลงมาคือมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปอด ที่ผ่านมาโรงพยาบาลฯ สามารถรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้เพียงร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 ส่งต่อไปรักษาต่างจังหวัด และ กทม. ผู้ป่วยต้องรอคิวรักษารายละ 3-6 เดือน ซึ่งหลังจากที่โรงพยาบาลฯเป็นศูนย์เชี่ยวชาญแล้ว ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการรักษาภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์ โดยเปิดให้บริการวันละ 16 ชั่วโมง มีแพทย์เฉพาะทางและบุคลากรด้านมะเร็งให้บริการรวม 40 คน การรักษามีทั้งการผ่าตัด ฉายแสง และเคมีบำบัด คาดว่าจะให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,500 ราย ให้บริการฉายแสงได้มากกว่า 75,000 ครั้งต่อปี จากเดิมที่เฉลี่ยได้ปีละ 32,000 ครั้ง และยังสามารถรองรับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงคือ จังหวัดชัยนาท กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร และอุทัยธานี อีกด้วย