ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เน้นย้ำประชาชนระวังป่วย สถานการณ์โรคมาลาเรียในรอบ 6 เดือนปีนี้พบป่วยแล้วกว่า 10,000 ราย พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 8 เท่าตัว แนะผู้ที่เดินทางเข้าไปในป่าเขา เช่น หาของป่า กรีดยางตอนกลางคืน ทำสวนผลไม้ ต้องป้องกันตนเอง สวมเสื้อผ้ามิดชิด ไม่ให้ยุงก้นปล่องกัด หลังกลับจากเข้าป่าถ้ามีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต้องรีบพบแพทย์รักษาทันที

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามเฝ้าระวังโรคที่พบมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีปริมาณยุงชุกชุมกว่าฤดูอื่น ที่น่าห่วงคือโรคไข้มาลาเรีย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 มิถุนายน 2557 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 11,036 ราย มากที่สุดที่ภาคใต้ 3,745 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ 2,946 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,837 ราย ต่ำสุดที่ภาคกลาง 1,508 ราย จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อุบลราชธานี ตาก ยะลา สงขลา และกาญจนบุรี เป็นที่น่าสังเกตว่า แนวโน้มโรคมาลาเรียจะพบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น โดยเฉพาะอุบลราชธานีจังหวัดเดียวพบ 2,384 ราย คิดเป็นร้อยละ 84 ของทั้งภาค สูงกว่าปี 2556 กว่า 8 เท่าตัว ที่พบผู้ป่วยเพียง 289 ราย อาชีพในกลุ่มที่ป่วยคือการหาของป่า ล่าสัตว์

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค เฝ้าระวังโรคมาลาเรียในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นสวนยาง สวนผลไม้ หรือผู้ที่มีอาชีพเก็บของป่า เสี่ยงถูกยุงก้นปล่องตัวการแพร่เชื้อมาลาเรียกัดได้ และจัดระบบการตรวจและรักษาผู้ป่วยให้รวดเร็วลดอาการรุนแรง ซึ่งโรคนี้มียารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ประชาชนยังไม่ค่อยตระหนักถึงโรคนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน จึงไม่มีการป้องกันยุงก้นปล่องกัด เมื่อเจ็บป่วยก็ไม่ได้คิดว่าป่วยจากไข้มาลาเรียจึงมักไม่ไปตรวจรักษา ทำให้อาการรุนแรง เสี่ยงเสียชีวิตได้

ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อประจำถิ่นในประเทศเขตร้อน โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค เชื้อที่พบในไทยมี 4 ชนิด ที่ตรวจพบมากในปีนี้คือ พลาสโมเดียม ไวแวกซ์ (Plasmodium Vivax) พบได้ร้อยละ 48 รองลงมาคือชนิดพลาสโมเดียม ฟาลซิฟารั่ม (Plasmodium Falciparum) พบร้อยละ 38 อาการป่วยจะปรากฏหลังถูกยุงกัด 10-14 วัน ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่เรียกว่ามาลาเรียขึ้นสมอง คือปวดศีรษะรุนแรง ตับโต น้ำตาลในเลือดต่ำ ไตวาย และเสียชีวิตได้ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อมาลาเรีย จะมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ และหากป่วยด้วยโรคนี้ครั้งแรกจะมีอาการรุนแรง เนื่องจากยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อมาลาเรีย แต่หากติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง อาการมักจะไม่รุนแรง

“พื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียของประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่บริเวณชายแดน ป่าเขา พื้นที่สวนต่างๆ ประชาชนควรป้องกันอย่าให้ยุงกัด โดยยุงก้นปล่องจะออกหากินเวลากลางคืน ฉะนั้นประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ หรือผู้ที่เดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่ดังกล่าว ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้ง ทายากันยุง เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันล่วงหน้า เนื่องจากไม่มีผลในการป้องกัน ภายหลังกลับจากป่า ถ้ามีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ขอให้นึกถึงโรคมาลาเรีย ต้องรีบพบแพทย์รักษาทันที” นายแพทย์โสภณกล่าว