ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ผอ.องค์การเภสัชกรรม-ประธานบอร์ด” ออกโรงโต้ ทุกข้อกล่าวหา หลัง 8 องค์กร สุขภาพ ยื่น คสช.ให้ปลดจากตำแหน่งด้วยเหตุทำงานไม่มีประสิทธิภาพ แถมส่อเค้าทุจริต ระบุ ปัญหาทั้งหมดเกิดก่อนเข้ารับตำแหน่ง ยันพยายามแก้ปัญหาให้ดีขึ้น ล้างขบวนการผลิตใหม่ทั้งหมด ปรับปรุงให้ดีขึ้น ตาม อย. แนะนำ จึงต้องปรับลดการผลิตยาเบาหวานลง ไม่ใช่เพราะกำไรน้อย เผยยอมเกิดผลกระทบด้านยาดีกว่าผลิตยาแบบไร้คุณภาพ ยันตัดงบวิจัยเพราะมีงบสะสม ไม่กระทบแน่ ระบุการใช้เงินกองทุนดอกพิกุลเป็นไปเพื่อประโยชน์ อภ. ไม่ใช่ประโยชน์ตัวเอง ชี้การยื่นตรวจสอบครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีในการยกเครื่อง อภ.

ภายหลังกรณีที่วันนี้ (7ก.ค.) 8  เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท เดินทางไปยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้พิจารณาปลดคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ ผอ.อภ.เนื่องจากเข้ามาบริหารงานแล้วทำให้ยาขาด-ไม่ผลิตยากำไรน้อย แถมส่อทุจริตการสร้างโรงงานใหม่ จนอาจไม่สามารถเปิดได้ทันในตุลาคมนี้ ขณะที่โรงงานเก่าก็ต้องปิดซ่อม

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา

7 ก.ค. ล่าสุด นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.องค์การเภสัชกรรมได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวภายหลังการเข้าหารือกับนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ว่า กรณีเรื่องยาขาดแคลน 2-3 รายการ เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน เนื่องจากเมื่อช่วง 10 เดือนที่ผ่านเกิดกรณีบรรจุยาปนกันจนเป็นเหตุให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาตรวจสอบ และได้สั่งระงับการผลิตเพื่อให้ดำเนินการปรับปรุงให้ได้มาตรฐานนั้น ทำให้ต้องนำกำลังการผลิตที่ยังเหลืออยู่มาเฉลี่ยการผลิตยารักษาโรคเบาหวานและยาอื่นๆ ที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน เบื้องต้นจึงต้องลดอัตราการผลิตยารักษาโรคเบาหวานลง 50% ส่วนกรณียา 80 รายการที่ทางองค์กรสุขภาพยกระบุว่าขาดแคลนนั้นเรื่องนี้เป็นปัญหามาทุกปี ก็ต้องมาพิจารณาว่ายังมียาตัวไหนมีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ที่ต้องดำเนินการผลิต แต่บางรายการอย่างที่เรียนว่ามีบริษัทเอกชนผลิตในราคาใกล้เคียงหรือถูกกว่า ทางอภ.ก็จะดำเนินการจัดหามาให้  ส่วนกรณียาต้านไวรัสเอชไอวีที่ชมรมผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นห่วงว่าจะผลิตไม่ทันงวดนั้นเกิดจากความล่าช้าในการส่งวัตถุดิบของบริษัทตัวแทนจำหน่าย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งจะมีการหารือเรื่องนี้ร่วมกันอีกครั้งใน 2-3 วันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ตามปกติยาต้านไวรัสเอชไอวีจะมีสต็อกไว้ใช้ในระยะเวลา 6 เดือนอยู่แล้ว อีกทั้งอภ.จะจัดหายาสำเร็จรูปมาให้ใช้ก่อนคาดว่าน่าจะทดแทนได้ทันเวลา

นพ.สุวัช กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงาน 3 แห่ง นั้นเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งผอ.อภ. โดยโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดนกที่อ.ทับกวาง จ.สระบุรี นั้นถูกสั่งให้หยุดก่อสร้างเพื่อทบทวนแก้ไขแบบ และพิจารณาเพิ่มงบประมาณการก่อสร้าง เรื่องนี้อยู่ระหว่างการเสนอข้อมูลให้ สธ.สำหรับเสนอขออนุมัติจาก คสช.ให้ดำเนินการต่อ ส่วนโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีที่รังสิต นั้นมีการยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมารายแรกเนื่องจากไม่สามารถก่อสร้างให้เป็นไปตามาตรฐานที่กำหนด ทำให้มีการฟ้องร้องกัน อย่างไรก็ตามตนได้เข้าไปตรวจสอบอีกครั้งเห็นว่ายังมีหลายขั้นตอนที่ไม่ถูกต้องจึงเสนอให้มีบุคคลที่ 3 (Third Party) เข้ามาตรวจซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ก็จะสามารถตอบข้อสงสัยเรื่องความไม่ชอบมาพากลได้

และในส่วนของโรงงานแมสโปรดักซ์ชันที่คลองหก ที่มีการตรวจรับแล้วแต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเกิดปัญหาใน 3 ส่วนคือการตอกยา การเคลือบยา และการบรรจุยา โดยในส่วนของการตอกยานั้นเพิ่งมีการค้นพบเครื่องตอกยาเม็ดความเร็วสูงที่ถูกเก็บไว้ในโรงงานโดยที่ไม่มีการแจ้งผู้บริหารชุดใหม่ ทำให้ขณะนี้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 15 ล้านเม็ด เป็น 38 ล้านเม็ด เครื่องเคลือบยาเม็ดขนาด 60 กก.จะเริ่มในอีก 1-2 สัปดาห์ และเครื่องบรรจุยาเม็ดที่ตอนนี้เดินเครื่องได้ประมาณ 5 เครื่องจาก 10 เครื่องก็กำลังจะเปิดเดินเครื่องทั้งหมด อย่างไรก็ตามในโรงงงานนี้ยังต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเรื่องอุณหภูมิและความชื้นอีก

“จากการตรวจสอบเรายังพบการจัดซื้อเครื่องจักรที่ไม่ตรงตามสเป็คอีกหลายรายการ ดังนั้นการที่ 8 องค์กรสุขภาพร้องเรียนให้มีการตรวจสอบระบบการทำงานของ อภ.ครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้มีการพัฒนา และปฏิรูปอภ. ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็เคยเสนอแผนการปรับโครงสร้างองค์กรทั้งในส่วนของบุคลากร และวิธีการทำงานเข้าบอร์ดไป 2 รอบ แต่ถูกคัดค้านว่าต้องมีการหารือ ทำประชาพิจารณ์จากพนักงานทั้งหมดก่อน” นพ.สุวัช กล่าว

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี

ด้าน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า ที่ 8 องค์กรสุขภาพร้อง คสช.นั้นมีหลายประเด็น โดยประเด็นการเลิกจ้างนพ.วิทิต อรรถเวชกุล จากการเป็นผอ.อภ.นั้นเนื่องมาจากความผิดพลาดเรื่องการซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล และความผิดพลาดในการบริหารงานซึ่งคณะกรรมการได้มีการประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ต่อเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้นพ.วิทิต ได้ทำการฟ้องศาลปกครอง ดังนั้นเรื่องจึงอยู่ที่การพิจารณาของชั้นศาล ส่วนกรณีกรณีที่ระบุว่า อภ.ตัดงบประมาณสนับสุนนการวิจัยนั้น เรื่องนี้ปกติ อภ.จะนำงบประมาณรายจ่ายขององค์กรไปสนับสนุนกองทุนการวิจัยตามระเบียบกองทุนเพื่อทำการวิจัยในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่อภ.จะผลิตในอนาคต รวมทั้งการวิจัยข้างเคียง ซึ่งในปีล่าสุดนี้ ผอ.อภ.มีความเห็นว่าเนื่องจากมีเงินสะสมตกค้างอยู่ 197 ล้านบาท ดังนั้นจากเดิมที่ต้องสนับสุนนงบประมาณเข้ากองทุนปีละ 45 ล้านบาท ก็ควรปรับลดลง 20 ล้านบาท เพราะเท่าที่มีอยู่นั้น เพียงพอต่อการทำวิจัยหลายๆ เรื่องในช่วง 2-3 ปีนี้ ส่วนที่เหลือจะถูกเก็บไว้ใช้สนับสนุนการวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีนที่จะถูกผลิตขึ้นจากโรงงานที่ทับกวาง ซึ่งเป็นการทำวิจัยในมนุษย์ที่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเป็น 100 ล้านบาท

ส่วนประเด็นข้อกล่าวหาที่ระบุว่าตนนำเงินกองทุนดอกพิกุลไปใช้ส่วนตัวนั้น ขอเรียนว่ากองทุนนี้เป็นกองทุนสนับสนุนการจัดแข่งขันกีฬา ซึ่งเงินที่เข้ามาในกองทุนก็เป็นเงินที่ได้จากการแข่งขันกอล์ฟ อย่างล่าสุดที่เพิ่งจัดการแข่งขันไปเมื่อเดือน ก.พ. 2557 ที่ตนเป็นประธานจัดได้เงินล้านกว่าบาท โดยนำเข้ากองทุนฯ ล้านบาทที่เหลือให้กลุ่มชมรมกอล์ฟ อภ. และกองทุนอื่นๆ การที่เบิกเป็นค่าเดินทางไปต่างประเทศ นั้นเป็นการเลี้ยงรับรองผู้ประสานงาน และการเบิกเป็นค่าน้ำมันรถนั้นเป็นการออกตรวจเยี่ยม ที่ทำถูกต้องทุกอย่างมีการขออนุญาตนำรถประจำตำแหน่งออกไป การเติมน้ำมันก็มีใบเสร็จ รวมไปถึงค่าโทรศัพท์ซึ่งเกิดจากการทำงานของ อภ. แต่เงื่อนไขเหล่านี้ไม่สามารถเบิกได้จากงบประมาณรายจ่ายของ อภ. ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงทำเรื่องเบิกจากกองทุนดอกพิกุล เพราะเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกิจกรรม

“วันนี้ ยอมรับว่า อภ.ยังมีปัญหาเรื่องการผลิตอยู่ เพราะว่ายังเดินสายได้ไม่เต็มที่ด้วยข้อจำกัดเรื่องการก่อสร้าง ที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ต้องมีการตรวจสอบ ส่วนตอนนี้หนักใจเรื่องที่ยาโอเซลทามิเวียร์ที่ยังอยู่ในสต็อกเกือบ 500 ล้านบาท จะหมดอายุในปีหน้าซึ่งคงต้องทำลายทิ้ง ยังมีประเด็นที่เป็นผลกระทบกับรายได้ของอภ. เราไม่โทษใคร แต่กำลังแก้ปัญหาที่ผ่านมา เราไม่เคยบอกว่าปัญหานี้ใครเป็นคนก่อ แต่เราบอกว่ามีปัญหา เรายืนยันว่าพยายามหายาจำเป็น ยาสามัญ ยาทดแทนยาราคาแพงจากต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยา รัฐประหยัดงบประมาณ แล้วเอามาทำเรื่องที่เป็นประโยชน์มาก เราร่วม สปสช.จัดหายา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์ ทำให้สปสช.มีเงินมาทำกิจกรรมอื่นๆ มากมาย การบอกว่าเอื้อประโยชนกับบริษัทยานั้นยังมองไม่ออกว่าเอื้ออย่างไร ยืนยันว่าเราไม่ได้เอื้อ วันนี้ถือว่าเราเป็นคู่แข่งกันด้วยซ้ำไป อภ.ไม่เป็นเลิศในการผลิตยาใหม่ๆ แต่ขอเป็นผู้ตามที่ดี ในการตามยาที่หมดลิขสิทธิ์ ยาดีๆ กับคนไทย" นพ.พิพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันเดียวกัน องค์การเภสัชกรรมได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

แถลงข้อเท็จจริงและสาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นของ องค์การเภสัชกรรม

จากเหตุการณ์ ที่ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ได้ยื่นหนังสือขอปลดบอร์ด อภ. และ ผอ.อภ. สาเหตุจาก ทำยาขาด ไม่ผลิตยากำไรน้อย ส่อทุจริตสร้างโรงงานใหม่นั้น

ทางองค์การฯ โดยคณะกรรมการองค์การฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงและสาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

1.เรื่องการผลิตยาที่ลดลงในปีนี้

สืบเนื่องจากปัญหาเรื่องคุณภาพยาที่องค์การฯ เป็นผู้ผลิต ในช่วงปี 2556 ตลอดทั้งปีที่เป็นข่าวกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของผู้ป่วยและแพทย์ผู้ใช้ยาขององค์การฯ คงจำกันได้ทั้งเรื่องยาพาราเซตามอลที่ปนเปื้อน และตามมาด้วยยาสลับปนแผงกัน โดยเฉพาะยาพาราเซตามอลปนเปื้อน ที่ทำให้บอร์ด อภ. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน เมื่อพบว่าเป็นความบกพร่องการบริหารของ ผอ.อภ. ก็ได้มีมติเลิกจ้างอดีต ผอ.ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 และขณะนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครอง ที่อดีต ผอ. ได้ฟ้องคณะกรรมการองค์กาฯ และผู้เกี่ยวข้องต่อศาลปกครอง และเมื่อเกิดเหตุการณ์ยาสลับปนแผงกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้นอีก ทางคณะกรรมการองค์การฯ ได้มีมติขอให้ อย. เข้ามาตรวจทานระบบมาตรฐานการผลิตของ อภ. ทุกสายการผลิต ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่องค์การฯ  ได้ผู้อำนวยการคนใหม่เข้ามาบริหารในเดือนกันยายน 2556 ทาง อย. ได้เสนอให้ปรับปรุงทั้งสถานที่และขบวนการผลิตใหม่หลายสายการผลิต และสายการผลิตบางแห่งถึงขึ้นต้องหยุดการผลิตทันที เพราะไม่สามารถปรับปรุงสถานที่ผลิตเดิมได้ โดยเฉพาะจุดผลิต Mass Productionเดิม ที่มีเครื่องปั๊มยา HI SPEED และสายการผลิตยาผงเกลือแร่ และสายการผลิตที่เหลือก็ต้องหยุดปรับปรุงใช้เวลา 1-3 เดือนแล้วแต่ปัญหาของแต่ละจุดผลิตโดยภาพรวมแล้ว ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 องค์การฯต้องหยุดการผลิตเกือบทุกสายการผลิตเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม  ทางคณะกรรมการ อภ.เห็นว่าเรื่องมาตรฐานการผลิตนี้เป็นปัญหาที่สำคัญเพราะหากไม่แก้ไข หากเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพยาขึ้นอีกจะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคและภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของ องค์การฯ เป็นอย่างยิ่ง จากเหตุดังกล่าวทำให้ในปีนี้การผลิตยาขององค์การฯ ไม่สามารถผลิตตามแผน กระทบต่อผลผลิตมาก

สาเหตุดังกล่าวท่านผู้อำนวยการองค์การฯ ได้เสนอปรับลดการผลิตยาบางรายการลง เพื่อคงการผลิตยาที่สำคัญตัวอื่นๆเอาไว้ โดยเฉพาะยาเบาหวาน METFORMIN ที่มียอดการผลิตปีละเกือบ 900ล้านเม็ด โดยขอปรับลดการผลิตลงเพื่อเฉลี่ยการผลิตไปยังยาตัวอื่นที่สำคัญ โดยยาเบาหวานตัวนี้ทางอภ.เห็นว่ามีจำหน่าย โดยผู้ผลิตอื่นๆในท้องตลาดมากกว่า 10 บริษัท โดยองค์การฯจะกลับมาผลิตยาตัวนี้เต็มกำลังตามความต้องการในเร็ววันนี้

จากเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงสายการผลิตในช่วงต้นปีทาง อภ.ได้เร่งปรับปรุงสายการผลิต Mass Production  ที่อดีต ผอ.ได้ปรับปรุงมาร่วม 3 ปี  และตรวจรับงานไปเมื่อเดือน เม.ย.56 แต่ก็พบว่าต้องใช้เวลาปรับปรุงต่ออีก เพราะมีปัญหาเรื่องระบบปรับอากาศในห้องบรรจุ ทั้งๆที่ได้ตรวจรับงานไปแล้ว ขณะนี้ได้ปรับปรุงแก้ไขและเริ่มเข้าสู่ระบบการผลิตได้บางส่วน เพื่อเสริมการผลิตที่ต้องหยุดสายการผลิตเดิมแล้ว และได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เรื่องการตรวจรับงานที่ผ่านมาแล้ว

2.เรื่องการก่อสร้างโรงงานยาที่รังสิตและโรงงานวัคซีนที่สระบุรีล่าช้า

ขอเรียนว่าเรื่องการผลิตที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะโรงงานที่รังสิตซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดเปิดประมูลรอบใหม่ เพราะตรวจพบว่าอดีตผู้บริหาร อภ.ได้มีการอนุมัติเปลี่ยนแบบรายการครุภัณฑ์ที่สำคัญ และมีการเพิ่มวงเงินการก่อสร้างอีกรวม 45 ล้านบท ซึ่งอยู่ในระหว่างการสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามระเบียบและเหมาะสมหรือไม่ และอยู่ระหว่างเริ่มการจัดประมูลใหม่ เพราะ TOR เดิมไม่เหมาะสม ส่วนโรงงานวัคซีนอยู่ในระหว่างเสนอปลัดกระทรวง สธ.เพื่อพิจารณาเสนออนุมัติต่อ คสช.ในการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมภายหลังเปลี่ยนแบบที่เหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นชอบในหลักการของการปรับปรุงแล้ว

3.ในส่วนเรื่องงบการวิจัยที่เสนอปรับลดลงจาก 45 ล้านบาทคงเหลือ 20 ล้านบาท นั้น ทางคณะกรรมการ อภ.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า อภ.ได้ตั้งงบรายจ่ายเพื่อสนับสนุนกองทุนเป็นประจำทุกปี ส่วนปีนี้ที่ปรับลดลง ก็เพราะเห็นว่างบสะสมเพื่อใช้ในการวิจัยมียอดคงเหลือรวม 194 ล้านบาท การปรับลดมิได้กระทบต่องบประมาณที่จะใช้ตามแผนงานวิจัยที่กำลังดำเนินการ หรือจะดำเนินการในปีต่อไปแต่อย่างใด

4.ในเรื่องการใช้จ่ายเงินกองทุนดอกพิกุล ซึ่งเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของ อภ.และเพื่อเป็นการสนับสนุนกีฬาและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ขององค์การฯนั้นขอเรียนว่าที่มาของเงินกองทุนนี้ได้มาจากการจัดกอล์ฟการกุศลของ อภ.ปี 2557 นี้ ก็มีการจัดแข่งกอล์ฟการกุศลของ อภ.โดยประธานการจัดงานคือประธานกรมมการ อภ. (ประธานบอร์ด) โดยได้มีการมอบเงินจากรายได้การจัดงานจำนวน 1 ล้านบาท ให้กองทุนดอกพิกุล สำหรับการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศก็เป็นการเบิกจ่ายค่ารับรองเลี้ยงผู้ประสานงาน ค่าใช้จ่ายเรื่องกอล์ฟก็เป็นการสนับสนุนกอล์ฟการกุศลที่หน่วยงานต่างๆขอรับการสนับสนุนมายังอภ. รวมทั้งการรับรองแขกของ อภ.ส่วนค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันรถ ก็เป็นการเบิกจ่ายรถของประธานที่ใช้ออกเดินทางพบปะตรวจเยี่ยมลูกค้าขององค์การฯในต่างจังหวัด รวมไปถึงค่าเหมาจ่ายค่าโทรศัพท์ของประธาน ซึ่งใช้ในการติดต่อประสานงาน ซึ่งการเบิกจ่ายกองทุนดอกพิกุลนี้เป็นการเบิกจ่ายเพื่อกิจกรรมขององค์การฯที่ไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบปกติได้

ขอเรียนว่าการผลิตและจำหน่ายยาของ อภ.เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่คงต้องรอการปรับปรุงที่รังสิต ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตกลับคืนมา และมีการผลิตเพิ่มขึ้น และจะเข้าสู่แผนการปรับปรุงโรงงานที่เดิมที่พระราม 6 ทำได้เต็มรูปแบบ ขอเรียนว่าทางองค์การฯ ยังมีปัญหาที่สะสมรอการแก้ไขอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่สั่งซื้อมาเป็นจำนวนมาก เช่น วัตถุดิบโอเซลทามิเวียร์ ที่ใช้รักษาไข้หวัด ที่สั่งซื้อมา จำนวนรวม 864 ล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุต้องทำลายทิ้ง ในปี 2556 เกือบ 500 ล้านบาท จะทำให้กระทบต่อผลประกอบการ อภ.เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งเรื่องที่สร้างความเสียหายอีกหลายเรื่องของอดีตผู้บริหารองค์การฯ โดยคณะกรรมการได้ส่งเรื่องไปยัง ปปช. เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อ และบางเรื่องก็อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการที่คณะกรรมการ อภ.แต่งตั้งตรวจสอบอยู่

อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าคณะกรรมการ อภ. ยืนยันที่จะปกป้อง พัฒนาการดำเนินงานของ อภ.เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนจะเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ และไม่เป็นภาระทางด้านงบประมาณของรัฐในการสนับสนุนการรักษาพยาบาลให้คนไทยทุกคน