ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

8 เครือข่ายสุขภาพถามกลับ “ผอ.และประธานบอร์ดอภ.” ชี้ข้อแก้ตัวยาขาดเพราะปรับปรุงโรงงานฟังไม่ขึ้น ย้ำเป็นหน้าที่อภ.ต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้ยาขาดแคลนใช่หรือไม่ จี้ถาม 6 ข้อ ทำไมปล่อยรพ.แก้ปัญหายาเบาหวานและความดันขาดแคลนเอง แถมไม่ยอมแจ้งล่วงหน้า ยาจิตเวชต้องรอนานแค่ไหน ถึงจะมีใช้พอ เหตุใดหยุดผลิตยาเม็ดหญิงตั้งครรภ์ ส่อเจตนาให้ไปซื้อจากบริษัทเอกชนอื่นหรือไม่ ขาดส่งยาต้านไวรัสเอดส์ให้สปสช. 3 เดือน กระทบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศจะทำอย่างไร โรงงานผลิตวัคซีนที่รังสิตล่าช้ากว่าปี ทำไมไม่ขึ้นบัญชีทิ้งงาน แถมยังจะจ้างกลับเข้ามาใหม่อีก

8 ก.ค. นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า จากการแถลงข่าวของประธานบอร์ด อภ.วานนี้ (7 ก.ค.) เป็นการยอมรับโดยดุษณีแล้วว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา อภ.ไม่สามารถดำเนินการตามพันธกิจขององค์การเภสัชกรรมไว้ได้ ข้ออ้างที่ว่าโรงงานมีปัญหาคุณภาพต้องปรับปรุงจนทำให้ยาสำคัญหลายตัวขาดแคลนไปทั่วประเทศนั้น เป็นการแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น เพราะโดยระเบียบการจัดซื้อยาของหน่วยงานรัฐฯ ต้องซื้อจากอภ. ดังนั้นบอร์ดอภ.ต้องบริหารจัดการทุกวิถีทางไม่ให้เกิดผลกระทบจนเกิดการขาดแคลนขึ้น เช่น การจ้างโรงงานเอกชนผลิต เป็นต้น

ทางเครือข่ายจึงขอตั้งคำถามให้อภ. ตอบ 6 ข้อดังนี้

1.กลุ่มยาเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เหตุใดปล่อยให้รพ.ต้องดิ้นรนแก้ปัญหาเองยาจากอภ.ขาดแคลนเอง ทำไมอภ.เมื่อรู้ว่าจะขาดแคลนจึงไม่แจ้งล่วงหน้า การที่อภ.ยกเลิกใบสั่งซื้อหรือที่เรียกว่า "ตัดจ่าย" ทีละเดือนๆ นั้น ทำให้วางแผนยากว่าจะซื้ออย่างไร และอภ.จะหันกลับมาสนับสนุนได้เมื่อไร

2.ยาผู้ป่วยจิตเวช เช่น ไดอะซีแพมและตัวอื่นๆ จะต้องรอนานอีกเท่าไร จึงจะเพียงพอแก่การบริการ

3.ยาเม็ด Triferdine สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ที่ต้องรับประทานตลอดอายุการตั้งครรภ์ ทำไมอภ.จึงหยุดผลิต กรณีนี้คล้ายกับว่า เหมือนเป็นการบังคับกลายๆ ให้รพ. ต้องไปซื้อยาสูตรผสมของบริษัทเดียวเท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กันหรือไม่

4.ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โอเซลทามิเวียร์ ที่ผลิตไม่ได้ และมีวัตถุดิบเหลืออีก 500 ล้านบาทนั้น จะเร่งแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้มียาเพียงพอก่อนจะเกิดการระบาดขึ้นอีก ดังที่เกิดปัญหาขึ้นเมื่อ 3 เดือนก่อนที่จังหวัดใหญ่ภาคอีสาน

5.ยาต้านไวรัสเอดส์ที่อภ.ขาดส่งให้สปสช. งวด เม.ย.-มิ.ย. 57 ส่งผลต่อคนไข้เอดส์ทั่วประเทศจะจัดการต่ออย่างไร

6.แผนงานระยะยาว เรื่องโรงงานผลิตที่รังสิต โรงงานผลิตวัคซีน ผ่านมา 1 ปี การก่อสร้างไม่คืบหน้า ไม่มีการแจ้งขึ้นบัญชีดำบริษัททิ้งงาน จะดำเนินการอย่างไรต่อ

“ตลอดการแถลงวานนี้ ปธ.บอร์ดอภ. ให้เหตุผลข้ออ้างแก้ตัวน้ำขุ่นๆ เหมือนนักการเมืองทั่วไปนิยมคือ เป็นผลงานของบอร์ดชุดที่แล้ว ทั้งที่การขาดแคลน ขาดคราว ผลประกอบการที่ตกต่ำเกิดในยุคนี้ ในยุคก่อนแทบไม่มีเลย ซึ่งประเด็นนี้ประธานบอร์ดอภ.ไม่ยอมชี้แจง จึงขอถามกลับและให้ชี้แจงในประเด็นนี้โดยด่วน เพราะขณะนี้ระบบการผลิต จัดการยาของประเทศกำลังเสียหายอย่างรุนแรง” นพ.วชิระ กล่าว

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หลังจากที่ประธานอภ. และผอ.อภ.แถลงแล้ว ยังพบว่าตอบได้ไม่ชัดเจน เลี่ยงประเด็น โดยเฉพาะกรณีโรงงานผลิตวัคซีนที่รังสิต อย่าเบี่ยงเบนประเด็น ขอให้ตอบมาว่าทำไม อภ.จึงไม่ดำเนินการใดๆ กับ บริษัทที่ทิ้งงาน หรือ ทำไมจึงมีความพยายามจะเลือก บริษัทที่ทิ้งงาน ให้ได้รับการว่าจ้างใหม่กลับเข้ามาอีก เท่ากับว่าประเด็นนี้เข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้บริษัท หรือ บกพร่องในการบริหารงานหรือไม่

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ว่ามีวัตถุดิบผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี AZT พอใช้อีก 6 เดือน และลามิวูดีน (lamivudine) 6 ตันนั้น เท็จจริงแค่ไหน เพราะเท่าที่ทราบมา วัตถุดิบลามิวูดีนมีเหลือแค่ 2 ตัน ที่สั่งอีก 4 ตันจนถึงขณะนี้ ผอ.อภ. ยังไม่ยอมเซ็นสัญญา ทั้งที่ยาเม็ดลามิวูดีน (lamivudine tab) เหลือในสต๊อกยาแค่ 2 เดือน ซึ่งฝ่ายผลิตขอเอาลามิวูดีนที่มีมาผลิตยาเม็ดลามิวูดีน แต่จริงหรือไม่ที่ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. กลับสั่งให้ไปผลิต GPOVIR Z 250 ทั้งที่มีสต๊อกอยู่ถึง 6 เดือน แต่เพราะราคาแพงกว่ายาเม็ดลามิวูดีน และได้กำไรมากกว่าจึงเลือกผลิต อยากให้ตอบคำถามประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนด้วย