ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ส่งหนังสือทักท้วงออกประกาศหลักเกณฑ์กองทุนสุขภาพตำบลฉบับใหม่ ยก 4 เหตุผล ขัดหลัก พ.ร.บ.หลักประกันฯ กระทบหน่วยบริการสังกัด หวั่นทำระบบบริการสุขภาพเสียหาย ด้าน อปท.วอน สธ.เห็นประโยชน์ของกองทุน ชี้เปิดกว้างใช้งบ ยิ่งสร้างการมีส่วนร่วมสร้างสุขภาพท้องถิ่น

นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ (ขอบคุณภาพจาก Facebook นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์)

13 ก.ค. 57 นพ.กิตติศักดิ์  คณาสวัสดิ์  นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(เทศบาล) กล่าวถึงกรณีที่ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อทักท้วงในการออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้อนถิ่นหรือพื้นที่ หรือที่รู้จักกันในชื่อกองทุนสุขภาพตำบลว่า จากการหารือกับเทศบาลมีความเห็นตรงกันว่า การออกประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนสุขภาพตำบลของทาง สปสช. เป็นไปตามข้อเสนอของทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล องค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) ที่ล้วนต้องการให้ สปสช.เปิดกว้างหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุนสุขภาพตำบลมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ทาง อปท.และชาวบ้านมีส่วนร่วมในการคิดและตัดสินใจในการดำเนินงานป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพยิ่งขึ้น 

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบกองทุนสุขภาพตำบลที่ผ่านมา สปสช.ได้กำหนดรายละเอียดใช้จ่ายงบมากเกินไป จนเป็นข้อจำกัด ซึ่งงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพในวันนี้เป็นเรื่องที่ครอบคลุมในหลายมิติ จึงไม่ควรจำกัดการใช้งบเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการเท่านั้น ดังนั้นประกาศหลักเกณฑ์การดำเนินการและบริหารจัดการกองทุนสุขภาพตำบลจึงเป็นสิ่งที่ดี ไม่เพียงแต่เปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพชาวบ้านในพื้นที่มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งยังช่วยหนุนเสริมกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลสุขภาพเพื่อลดภาวะการเจ็บป่วย

ทั้งนี้จากการดำเนินนโยบายกองทุนสุขภาพตำบลในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องหลักเกณฑ์การบริหารตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ก็ยังสามารถดึงท้องถิ่นต่างๆ ให้หันมาทำงานสร้างเสริมสุขภาพให้กับชาวบ้านได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเท่าที่ทราบปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลครอบคลุมตำบลต่างๆ เกือบร้อยเปอร์เซ็นแล้ว ทั้งนี้มาจากประโยชน์ของกองทุนสุขภาพตำบลที่ส่งถึงชาวบ้านโดยตรงจริงๆ โดย อปท.ต่างยินดีร่วมจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เพราะเห็นถึงประโยชน์ทางสุขภาพที่จะได้รับ

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมืองมหาสารคามเป็นพื้นที่ซึ่งมีผู้สูงอายุมากกว่า 3,000 คน จึงได้ร่วมกับกองทุนสุขภาพตำบลและศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ในการจัดทำระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวทั้งการตรวจสุขภาพ การติดตามเยี่ยมบ้าน การรักษา การให้คำแนะนำดูแลสุขภาพ และการออกกำลังกาย เป็นต้น รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับการตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี และนำไปสู่การขยายจัดตั้งกองทุน กองบุญ เอื้ออาทร เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุที่ยากจน จะเห็นได้ว่าประโยชน์ที่เกิดจากกองทุนสุขภาพตำบลมีมากกว่าเม็ดเงินที่ทาง สปสช.เริ่มต้นใส่ลงไป

“อยากให้กระทรวงสาธารณสุขมองเห็นถึงประโยชน์ที่เกิดกับท้องถิ่น เกิดขึ้นกับชาวบ้าน แทนที่จะทักท้วง คัดค้าน แต่ควรหันมาให้การสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบลมากกว่า” นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือข้อทักท้วงในการออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เป็นหนังสือที่ สธ ๐๒๐๙.๐๗๔๒๑  ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ลงนามโดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งส่งถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีเนื้อหาทักท้วงดังนี้

1.การออกประกาศฯ ฉบับใหม่นี้ ไม่ได้เป็นไปตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนด กล่าวคือการสนับสนุนเงินกองทุนสุขภาพให้กับท้องถิ่นดำเนินการเรื่องหน่วยบริการและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ จะกำหนดเป็นอย่างอื่น สนับสนุนหน่วยงาน กลุ่มหรือองค์กรในลักษณะเดียวกันไม่ได้ นอจากนี้ประกาศหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนสุขภาพตำบลฉบับใหม่นี้ยังมีลักษณะของการจัดตั้งกองทุนและดำเนินการที่แตกต่างไปตามกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 57

2. หลักเกณฑ์การรับเงิน การจ่ายเงิน การจัดทำบัญชี และรายงาน ซึ่งกำหนดให้เปิดบัญชีแยกต่างหากจากบัญชีทั่วไปเพื่อรับเงินตามแผนโครงการ พร้อมให้ทำการแยกบริการเป็นรายการย่อยๆ สร้างความสับสนและเป็นภาระกับหน่วยบริการและหน่วยงานโดยไม่จำเป็น

3.การให้คำจำกัดความเรื่องเดียวกันมีความเกี่ยวข้องกัน เช่น คำว่า “จัดบริการสาธารณสุข ในประกาศคณะหลักประกันสุขภาพ กับในประกาศคณะอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในลักษณะที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดความสับสนและมีปัญหาทางปฏิบัติได้

4.การจ่ายเงินให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการเพื่อดำเนินงานที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุข เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งจะส่งผลทำให้หน่วยบริการไม่ได้รับงบประมาณเพื่อการดำเนินงานที่ควรจะเป็น และอาจเกิดความเสียหายต่อระบบบริการสุขภาพได้ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง