ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. ขอความร่วมมือราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เพิ่มการผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรม ให้เพียงพอกระจายไปในพื้นที่ขาดแคลนในเขตบริการสุขภาพ ซึ่งขณะนี้ผลิตได้ปีละ100 คน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 200 คน ตั้งคณะกรรมการร่วมมือพัฒนาด้านวิชาการ และมาตรฐานการจัดบริการของแพทย์ทั่วไป/แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรม ให้เหมาะสมสอดคล้องกับโรงพยาบาลแต่ละระดับ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังบรรยายเรื่อง “การปฏิรูปนโยบายและโครงสร้างสถาบันการฝึกอบรม ก้าวใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง : การกระจายทรัพยากรลงสู่เขต ในงานประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 39 ของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการปฏิรูประบบบริการ โดยแบ่งการบริหารออกเป็น 12 เขตและ 1 เขตกทม. เป็นการกระจายอำนาจการจัดสรรทรัพยากรลงสู่เขต ใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งคน เงิน ของ เพื่อจัดบริการที่เครือข่ายเบ็ดเสร็จในเขตบริการเดียวกัน แก้ไขปัญหาทั้งขาดแคลนแพทย์ พยาบาล เตียงรับผู้ป่วย ความแออัด รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถการให้บริการประชาชนทั้งด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และบุคลากร เช่น แพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ได้หารือกับราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางใน 5 ประเด็น ดังนี้ 

ประเด็นที่ 1.การเพิ่มการผลิตแพทย์ประจำบ้าน (Residency training)โดยจะขอให้ราชวิทยาลัยฯ ช่วยเหลือด้านวิชาการและพัฒนาศักยภาพ กรมการแพทย์และศูนย์แพทยศาสตรศึกษาระดับคลินิกโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มจำนวนแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ผลิตได้ปีละ100 คน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 200 คน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ศัลยแพทย์ทั่วไป ประสาทศัลยแพทย์ และศัลยแพทย์ทรวงอก เป็นสาขาขาดแคลน โดยให้เขตบริการสุขภาพขอโควต้าได้ตามความขาดแคลน และเปิดโอกาสให้แพทย์เข้ารับการฝึกอบรมได้เร็วขึ้น 

ประเด็นที่ 2.การรับแพทย์เข้าฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยกรรม ขอให้ราชวิทยาลัยฯพิจารณารับโควต้าแพทย์ประจำบ้านต้นสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผ่านการคัดเลือกจากต้นสังกัด และจัดสรรตามความขาดแคลนของเขตบริการสุขภาพ เมื่อจบจะสามารถทำงานในพื้นที่ได้ 

ประเด็นที่ 3.การฝึกปฏิบัติสำหรับแพทย์ใช้ทุนปี2-3 ของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของแพทย์ใช้ทุน ขอให้ราชวิทยาลัยฯช่วยพัฒนาขีดความสามารถด้านศัลยกรรม โดยจัดหลักสูตรการเรียนรู้แบบนำตนเองใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการฝึกอบรม ทำให้แพทย์สามารถนำความรู้นั้นมาปฏิบัติงานได้ทันที

ประเด็นที่ 4.การพัฒนามาตรฐานการจัดบริการของแพทย์ทั่วไป /แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรม ขอให้ราชวิทยาลัยฯร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขพัฒนา ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของโรงพยาบาลแต่ละระดับ เช่น โรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เป็นต้น คำนึงถึงความพร้อมด้านทรัพยากรของแต่ละโรงพยาบาล อาทิเช่น การผ่าตัดไส้ติ่งที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ควรทำได้ที่โรงพยาบาลชุมชน ภายใต้การดูแลของวิสัญญีพยาบาลได้ในกรณีไม่มีวิสัญญีแพทย์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทีมแพทย์ผู้ทำการรักษา ในเรื่องมาตรฐานบริการ

ประเด็นที่ 5.ขอให้ราชวิทยาลัยฯส่งตัวแทนร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อการพัฒนาระบบบริการและระบบการฝึกอบรมแพทย์หลังปริญญา โดยให้สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เป็นผู้ประสานในการดำเนินการ  ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน เป็นกรรมการร่วม  โดยนำข้อสรุปจากที่ประชุมมานำไปสู่การปฎิบัติในระบบบริการและระบบพัฒนาบุคลากร 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะนำร่องความร่วมมือในสาขาศัลยกรรม ก่อนจะขยายความร่วมมือไปให้ครบทั้ง 4 สาขาหลัก คือศัลยกรรม สูติกรรม อายุรกรรมและกุมารเวชกรรม ที่มีความขาดแคลนและจำเป็นในการจัดบริการให้ประชาชน                     

ด้านพล.อ.ต.นพ.อิทธิพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่จะทำเกิดความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย  โดยเฉพาะแนวคิดการผลิตศัลยแพทย์เฉพาะทาง จากโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนในชุมชนมากที่สุด โดยอาศัยความร่วมมือของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ฯ โดยในการปรับการศึกษาต่อยอดนี้  จะต้องพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาล อาจารย์แพทย์ ให้ได้ศัลยแพทย์ที่ตรงกับปัญหาในชุมชน และเป็นโอกาสอันดีในการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นการกระจายโอกาสการรักษาที่ดีให้กับประชาชนต่อไป