ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ -2 เดือนหลังรัฐประหาร กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ดูจะเป็นพื้นที่ที่เงียบที่สุด เมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆที่มีการแต่งตั้งโยกย้ายหัวแถวกันไปเรียบร้อย หรือในกระทรวงอื่นที่มีการปรับ-ชะลอโครงการเมกะโปรเจกต์จนวุ่นวาย

แน่นอนว่าเป็นเพราะ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ที่ประกาศตัวชัดเจนตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ยึดอำนาจว่าอยู่ขั้วตรงข้ามกับรัฐบาล และมีนโยบายปฏิรูปกระทรวงเป็นของตัวเอง จนทำให้ฝ่ายทหารเกิดความไว้วางใจ และก็มีชื่อนพ.ณรงค์ อีกเช่นเดียวกัน ที่เป็นแคนดิเดตรมว.สธ. ในรัฐบาลที่จะตั้งเร็วๆ นี้

ทำให้ นพ.ณรงค์ มั่นใจมากว่าจะทำให้โรดแมปปฏิรูปกระทรวงเดินหน้าต่อได้อย่างสะดวก จนเริ่มเปิดศึกกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ด้วยการสั่งให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดไม่เข้าร่วมทุกการประชุมร่วมกับ สปสช. โดยมีคำสั่งลงชื่อ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.ชัดเจน

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า คำสั่งห้ามสังฆกรรมกับ สปสช.นั้นสร้างความสับสนให้ผู้บริหารโรงพยาบาลชุมชนมากว่าผู้ใหญ่กำลังเล่นอะไรกันอยู่ ทำให้การใช้จ่ายงบรวมถึงการจ่ายเงินเดือนในหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศช่วงสิ้นปีงบประมาณสับสนจนต้องควักงบส่วนอื่นมาจ่ายเป็นเงินเดือนรวมถึงจัดซื้อยาแทน

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง ระบุว่าโรงพยาบาลเล็กหลายแห่งใน จ.สงขลา และลพบุรี ไม่ได้รับเงินจาก สปสช. เนื่องจากผู้ใหญ่ในสธ.ไม่ให้ทำสัญญาใดๆ ด้วย ขณะที่บางโรงพยาบาลได้รับในระดับ2-3 แสนบาท จากที่ต้องได้รับจัดสรรในหลักล้านบาท

"แปลกใจว่าทำไมกระทรวงไม่ปล่อยให้ สปสช.ทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วกระทรวงก็ดูแลหน่วยบริการไปการออกหนังสือห้ามไม่ให้ประชุมหรือทำสัญญาใดๆคือท่าทีที่สร้างความขัดแย้งชัดเจน ทั้งที่ คสช.มีนโยบายในการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ เพื่อให้บริการประชาชน ถามว่าปลัดกำลังขัดนโยบายคสช.ใช่หรือไม่" อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุ

ไม่ใช่กระทรวงที่เปลี่ยนไปอย่างเดียว แต่แพทย์ชนบทก็เปลี่ยนท่าทีเช่นเดียวกัน เพราะก่อนหน้านี้แพทย์ชนบทเคยร่วมกับปลัดในการไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งจนประสบความสำเร็จมาแล้ว รวมถึงยังเคยให้กำลังใจ เมื่อนพ.ณรงค์ ถูก นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ อดีต รมว.สธ.ตั้งกรรมการสอบกรณีใช้ทรัพย์สินราชการสนับสนุน กปปส.

มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพราะแพทย์ชนบทรู้ดีว่าหากปล่อยให้ นพ.ณรงค์ รับตำแหน่งรัฐมนตรี ย่อมทำให้อำนาจต่อรองของพวกเขาน้อยลงเรื่อยๆเนื่องจากจะกลับมาสู่ยุคที่รวบอำนาจกลับมายัง สธ. หรือกระทรวง และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่ส่วนใหญ่ นพ.ณรงค์ คุมได้หมด กลับมาเป็นใหญ่อีกครั้ง

อีกนัยหนึ่งก็น่าสนใจว่า มีความพยายามผลักดันคนของกลุ่มแพทย์ชนบท ขึ้นเป็นรัฐมนตรีเพื่อแข่งกับนพ.ณรงค์ ด้วยหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าในช่วงรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คณะทหารได้เลือก นพ.มงคล ณ สงขลา "พี่ใหญ่" ของชมรมแพทย์ชนบทขึ้นเป็นรัฐมนตรี ทำให้เป็นยุครุ่งเรืองของแพทย์ชนบท

การโพสต์เฟซบุ๊กของ นพ.มงคล ตำหนิท่าทีของนพ.ณรงค์ ที่เสนอแนวคิดร่วมจ่ายในการรักษาพยาบาล 30-50% แทนการจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ย่อมมีนัยสำคัญที่น่าติดตาม

แต่ต้องยอมรับว่าชมรมแพทย์ชนบทยุคนี้น่าจะเริ่มเข้าสู่ยุคอัสดงแล้ว เนื่องจากเข้ามาพัวพันกับการเมืองโดยเฉพาะการที่เคยอุ้มปลัดณรงค์มาก่อน การจะต่อสู้โดยมีวาระอะไรก็แล้วแต่ย่อมเหนื่อยขึ้นเป็นเท่าตัวและจะถูกมองจากสังคมเช่นเดียวกันว่า "สู้เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง"

มาที่ฟาก สปสช.ก็เหนื่อยใช่เล่นเนื่องจากทหารไม่เคยรู้มาก่อนว่าองค์กรนี้มีไว้เพื่ออะไรทั้งที่งบประมาณสปสช. สูงถึง 1.41 แสนล้านบาท ดูแลผู้ใช้บัตรทอง 49 ล้านคน โดยล่าสุดได้เสนอ คสช.ให้เพิ่มงบรายหัวจาก2,895 บาท/คน/ปี เป็น 3,060 บาท/คน/ปี แต่ดูเหมือนไม่ได้รับการตอบรับ เพราะถูกมองเป็น "ประชานิยม"

หาก นพ.ณรงค์ ได้เป็นรัฐมนตรีก็เป็นไปได้ที่ สปสช.จะถูกลดบทบาทลงไปเรื่อยๆเพราะแม้แต่ช่วงนี้ที่ นพ.ณรงค์ เป็นรักษาการประธานบอร์ด สปสช.ไม่มีการประชุมบอร์ดมาแล้วกว่า 2 เดือน

ชัดเจนว่า หลังจากนี้จะเป็นปรากฏการณ์ที่ สธ.และ สปสช. แพทย์ชนบทและคลื่นใต้น้ำในกระทรวงจะออกมาปะฉะดะกันอีกครั้ง หลังจากเคยสามัคคีกันขับไล่รัฐบาลชุดที่แล้วมาก่อน

แต่สำหรับคนไทยแล้ว หลังจากนี้จะได้เห็นสภาวะอึมครึมที่ปกคลุมระบบสุขภาพ ในวันที่รอคอยการรัฐบาลชุดใหม่ และมีแต่ความหวาดระแวงถึงทิศทางในการบริหารงานของเจ้ากระทรวงหลังจากนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 กรกฎาคม 2557