ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โพสต์ทูเดย์ -แนวคิดที่จะให้ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) จำนวน 47 ล้านคน "ร่วมจ่าย"ค่ารักษาพยาบาล ถูกพูดถึงในที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยปรากฏหลักฐานจาก "บันทึกการประชุม"ในช่วงท้าย

นำมาซึ่งการต่อต้านอย่างรุนแรงจากเครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาชน รวมถึงกลุ่มแพทย์อาวุโสโดยมองว่าเป็นแนวความคิด "ถอยหลังเข้าคลอง"

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ยืนกรานว่า สธ.ไม่เคยมีแนวคิดร่วมจ่าย และส่วนตัวก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้ในที่ประชุม

"เป็นเพียงข้อเสนอที่มีผู้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม และที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยหรือมีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ยืนยันไม่ใช่มติที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อ คสช.แต่อย่างใด" นพ.ณรงค์ระบุชัด

เพื่อทำความจริงให้ปรากฏและยุติความสับสน"โพสต์ทูเดย์" ถอดคำพูดในการประชุมวันดังกล่าว ซึ่งเป็นความจริงที่ว่า นพ.ณรงค์ ไม่ได้พูดหรือนำเสนอให้มีการ "ร่วมจ่าย" ต่อ คสช.ด้วยตัวเอง

ทว่ากลับมีผู้บริหารระดับอธิบดีซึ่งเป็นคนใกล้ชิดนพ.ณรงค์ นำเสนอแทน โดยได้กล่าวแทรกขึ้นช่วงท้ายก่อนปิดการประชุมอย่างฉิวเฉียด อธิบดีรายนี้ยอมรับว่า สธ.มีแนวคิดดังกล่าวมานานแล้ว ขณะที่ประธานการประชุม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ก็ได้ให้แนวทางการดำเนินการตามที่ สธ.นำเสนอ

การประชุมร่วมระหว่าง สธ.และ คสช.ดำเนินไปร่วม 2 ชั่วโมง กระทั่งช่วง 5 นาทีสุดท้าย นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวแทรกขึ้น

"ขออนุญาตเรียนว่ากระทรวงสาธารณสุขมีภาระในการดูแลสุขภาพประชาชนทั้งประเทศ 65 ล้านคนเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก อย่างที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เรียนไว้แล้วว่าในระบบมีเงินที่จะต้องดูแลอยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาทและทั้งหมดก็รักษาฟรี ส่วนใหญ่ก็จะมีหน่วยงานที่เป็นองค์กรต้นสังกัดไม่ว่าจะเป็น สปสช. กรมบัญชีกลางหรือประกันสังคม ตามจ่ายอยู่

ปัญหาก็คือว่าในงบประมาณที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชาชนเป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและก็มีค่าใช้จ่ายในการดูแลจำนวนครั้งต่อปีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี ส่งให้บุคลากร สธ.ไม่เพียงพอ ถ้ามองไปอีก10-20 ปีข้างหน้า ถ้าเป็นระบบแบบนี้ไปเรื่อยๆเราก็คงจะชดเชยเงินเท่าไรก็คงไม่พอ ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ข้อเสนอก็คือว่า มองในระยะกลางและระยะยาวคงจะต้องมีการปรับระบบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตัวเองบ้าง นั่นก็คือการให้เกิด 'co-payment' ด้านสุขภาพเหมือนอย่างที่ทั่วโลกทำกัน เพราะในวันนี้ถ้าทุกอย่างฟรีหมดก็จะทำให้ประชาชนใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆโดยที่ไม่ได้ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง

สิ่งนี้ (นโยบายร่วมจ่าย) เป็นเรื่องที่ทางเรา(สธ.) พยายามทำอยู่แล้ว แต่ที่ทำไม่ได้เพราะมีประเด็นปัญหาเรื่องของคะแนนเสียงอะไรต่างๆซึ่งขณะนี้ก็เป็นโอกาสที่จะมองในเชิงปรับระบบให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นและให้ประชาชนดูแลตัวเองมากขึ้น"

ทันทีที่ นพ.ธวัชชัย สิ้นสุดคำ พล.ร.อ.ณรงค์ในฐานะประธานการประชุมกล่าวตอบ

"ที่พูดมานี้ถือว่าตรงเลย เพราะว่าเราเห็นปัญหาข้างหน้าอยู่แล้ว ปีนี้ 2 แสนล้านบาท ปีถัดไปคนอายุเพิ่มขึ้นแล้วไม่เสียชีวิตสักที (เสียงหัวเราะดังทั้งห้องประชุม) รวมทั้งตัวผมเองด้วย ก็มีค่าดูแลเพิ่มขึ้นแล้วถึงตอนนั้นเราคงไม่สามารถหาเงินมาอุดหนุนตรงนี้ได้

ก็เห็นด้วยอย่างยิ่งในการที่จะให้ผู้ที่จะเข้ารับการรักษาหรือประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการจ่าย แต่ก่อนมี 30 บาทรักษาทุกโรค ก็อาจจะเป็นตัวเลขที่ดูแล้วมันต่ำไปหรือเปล่า หรือมันพอเหมาะไหม หรือถ้าจะมีส่วนร่วมทาง สธ.ก็ต้องคิดว่าจะต้องมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด คิดเป็นเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า ในราคายาหรือราคาค่าตรวจรักษา 100 บาท คนที่ไปใช้บริการจะเสียสักเท่าไร 50% หรือ 30% หรืออะไรอย่างนี้ คงต้องหาตัวเลขหรือว่าหลักเกณฑ์ตรงนี้ออกมาให้ได้

ซึ่งผมว่าต้องมองแล้วในตอนนี้ เพราะเราคงอุดหนุนเงินทั้งหมดในระยะยาวคงเห็นอนาคตข้างหน้าแล้วว่าจะไปไม่ไหว นอกจากเราจะไปจดภาษีเรื่องสวัสดิการสังคมเพิ่มมากขึ้นๆ คนก็จะมีปัญหาอีกเหมือนกัน ก็ฝากให้คิดกันด้วย"

พล.ร.อ.ณรงค์ ย้ำในช่วงสุดท้ายของการประชุมว่าฝากเรียนทุกท่านว่า คสช.ไม่ได้ต้องการมาล้วงลูกหรือมาทำอะไรทั้งสิ้นใน สธ. แต่ต้องการช่วยผลักดันงานที่ค้างอยู่ให้ดำเนินการเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ ยังให้อำนาจ ปลัด สธ.รื้อโครงการที่ดูแล้วไม่เหมาะสม หรือสุ่มเสี่ยงว่าเป็นใบสั่งทางการเมืองทิ้ง

"แผนงานโครงการต่างๆ ในปี 2558 ถ้าทางสธ.เห็นว่าแผนโครงการใดที่พิจารณามาก่อนหน้านี้แล้วเบี่ยงเบนหรือไม่ตอบสนองข้อเท็จจริง อาจด้วยมีอะไรเข้ามาแทรกแซงบ้าง หรือโครงการไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน มีความผิดเพี้ยนไป ขอให้ใช้โอกาสนี้ในการที่จะปรับ คิดว่าท่านผู้บริหาร สธ.จะใช้ช่วงโอกาสดีๆ นี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะมีสักกี่เดือน ตัดโครงการเหล่านั้นทิ้งไปให้หมดเลยเพื่อปฏิรูประบบให้เข้าที่เข้าทาง"หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ทิ้งท้ายก่อนกล่าวปิดการประชุม

นอกจากนี้ 1 วันก่อนที่ นพ.ณรงค์ จะยืนกรานว่าสธ.ไม่มีแนวคิดร่วมจ่าย พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ในฐานะตัวแทนประชาคมสาธารณสุข (นพ.ณรงค์ ก็เป็นสมาชิกประชาคม) ซึ่งปรากฏตัวสนับสนุนปลัด สธ.มาอย่างต่อเนื่องได้แสดงความคิดเห็นว่า ประเด็นร่วมจ่ายเป็นเรื่องที่คนในแวดวงสาธารณสุขและกลุ่มคนที่คัดค้านทราบดีว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ

"แต่ไม่ใช่สัดส่วนมากมายขนาดนี้ ควรร่วมจ่ายในอัตราประมาณ 30-50 บาท ที่สำคัญต้องไม่เก็บเงินกับผู้ยากจน เด็ก ผู้สูงวัย แต่ให้เก็บกับกลุ่มคนวัยทำงาน เรื่องนี้พูดกันมานานแต่ไม่มีใครกล้าทำโดยเฉพาะพรรคการเมือง" พญ.ประชุมพร ช่วยยืนยันอีกเสียงว่า สธ.มีการพูดกันมานานแล้ว

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ สมาชิกประชาคมสาธารณสุข (ซึ่งที่ผ่านมามักจะมาให้กำลังใจ นพ.ณรงค์ โดยเฉพาะช่วงการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์) รวมถึงตัว นพ.ณรงค์ จะร่วมกันแถลงข่าว"การปฏิรูประบบการเงินการคลังของกระทรวงสาธารณสุข" ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ เวลา 11.00 น.

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 กรกฎาคม 2557