ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผลเฝ้าระวังสื่อพบโฆษณาผลิตภัณฑ์ อาหารถึง 94% มีคุณค่าโภชนาการไม่เหมาะสม ดึงคนดัง การ์ตูนจูงใจ กระตุ้นเด็กอยากกินแทนอาหารมื้อหลัก ห่วงเด็กขาดสารอาหาร มีภาวะอ้วน จี้ อย. กสทช. ออกข้อกำหนดคุมเข้ม

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า จากการร่วมกับแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ศึกษาการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 5 7 และ 9 ช่วงเวลาจันทร์ - ศุกร์  15.00 - 20.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 06.00 - 10.00 น. และ 15.00 - 20.00 น. ระหว่างวันที่ 24 มี.ค. ถึง 4 เม.ย. 2557 ซึ่งเป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ โดยศึกษาในรายการประเภท น ป ด และ ท พบว่า ร้อยละ 94 ของอาหารและเครื่องดื่มที่โฆษณาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่ เหมาะสม ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มพร้อมดื่ม นม และขนมขบเคี้ยว รวมถึงการโฆษณายังใช้พรีเซนเตอร์ที่เป็นดาราดัง คนที่มีชื่อเสียง ใช้การ์ตูน และการใช้ mock up ที่ทำให้อาหารมีขนาดใหญ่เกินความเป็นจริง โดยเน้นเรื่องรสชาติอาหาร ส่งเสริมให้บริโภคเกินความจำเป็น และบริโภคแทนอาหารมื้อหลัก มีการใช้คำให้รู้สึกว่าราคาถูกลง และเด่นหรือด้อยกว่าคนอื่น นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาส่อไปในทางเพศซึ่งไม่เหมาะสมกับเด็ก และพบโฆษณาแฝงทุกรูปแบบมากที่สุดในรายการที่มีเนื้อหาระดับ ท ที่ออกอากาศในช่วงเวลาสำหรับเด็ก
       
“การโฆษณาเหล่านี้ส่งเสริมให้เด็กเกิดความต้องการบริโภค ขณะที่กฎหมายควบคุมการโฆษณาในปัจจุบันไม่ครอบคลุมการโฆษณาที่มีรูปแบบและ เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรออกข้อกำหนดในการควบคุมโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม เช่น นักแสดง ดารา นักกีฬา ตัวการ์ตูน และบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นผู้นำเสนอในการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณ ค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม เป็นต้น” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว 
       
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การโฆษณาที่ใช้ลูกเล่นแพรวพราวเชิญชวนให้เด็กบริโภค ทำให้เด็กหลงกลได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี ที่พัฒนาการด้านทักษะการรู้คิดรู้ทันยังอยู่ในโลกจินตนาการ ไม่สามารถแยกแยะโลกจินตนาการและโลกความเป็นจริงได้ หรือเด็กวัยเรียนก็ถูกล่อลวงได้เช่นกัน เด็กจึงตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา ส่งผลให้เกิดผลกระทบ 3 ด้าน คือ 1. ร่างกาย เช่น มีภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสมกับวัย เกิดภาวะอ้วน หรือขาดสารอาหาร ฟันผุ  2. จิตใจ เนื่องจากแยกแยะไม่ออกแล้วลอกเลียนแบบพฤติกรรม เข้าใจว่าตนเองเป็นยอดมนุษย์ผู้วิเศษ ถ้าดื่มนมยี่ห้อนี้แล้วไปกระโดด หรือทำพฤติกรรมที่คิดว่าเป็นยอดมนุษย์สุดท้ายก็บาดเจ็บ และ 3. สังคม เกิดค่านิยมว่าตนเองเก่ง ดีกว่าคนอื่นถ้ากินอาหารยี่ห้อนั้นๆ