ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.เตรียมจัดเวที ลดความขัดแย้งในระบบสาธารณสุข เชิญ สธ. สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือพร้อมถกขับเคลื่อนปฏิรูประบบสุขภาพไปในทิศทางเดียวกัน ลดการอภิบาลโดยรัฐ เน้นบริหารแบบเครือข่ายการมีส่วนร่วม และกระจายอำนาจ ยึดแนวทางมติสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 6 พร้อมเผย ตย.ปัญหาบริหารรวมศูนย์อำนาจทำแพทย์จบใหม่ 4 เดือน ยังรอบรรจุ ทำงานไม่ได้รับเงินเดือน พร้อมกังวล สธ.เดินหน้าเขตสุขภาพ และตั้ง คกก.นโยบายสุขภาพแห่งชาติ กลายเป็นการรวบอำนาจ สร้างความขัดแย้ง 

ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ – วันที่ 16 ก.ค.57 นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุภาพแห่งชาติ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันแถลงข่าว “ชวนปฏิรูประบบสุขภาพ บนวิถีความปรองดอง” เพื่อเสนอแนวทางขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ในประเด็นข้อเสนอการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ได้ติดตามเหตุการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการนำเสนอที่สิ่งที่แตกต่างกัน แต่ไม่ใช่ความขัดแย้ง ซึ่งในมิติการปฏิรูประบบสุขภาพ การปฏิรูปไม่ใช่เพราะว่าระบบสุขภาพประเทศไทยแย่ แต่เกิดจากภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป หากบริหารรูปแบบเดิมจะไปไม่รอดเพราะระบบสุขภาพปัจจุบันได้รวมไปถึงเรื่องสุขภาวะไปด้วย ทั้งนี้ระบบสุขภาพประเทศไทยได้ดำเนินมาตั้งแต่บัตรประกันสุขภสพผู้มีรายได้น้อยไปจนถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้หลังจากมีข่าวความขัดแย้งจึงได้ทำการทบทวนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเห็นว่า  

1.หลักประกันสุขภาพถ้วหน้า ถือเป็นหลักประกันความเสี่ยงทางสุขภาพทางสังคม สำหรับคนไทยทุกคน ที่ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย เป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดให้ 2.การร่วมจ่าย หรือ copayment ยังคงมีอยู่ แต่เป็นในรูปแบบสมัครใจ หากใครต้องการร่วมจ่ายสามารถจ่าย 30 บาทได้ 3.ค่าใช้จ่ายหลักประกันสุขภาพที่ระบุว่าจะเป็นภาระมาก จนกลายเป็นปัญหาการเงินการคลัง โดยมีการระบุตัวเลขค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 13% ของจีดีพี แต่ในข้อเท็จจริงพบว่าอยู่ที่ 1.3% ของจีดีพีประเทศ อีกทั้งเป็นเรื่องยากที่จะขยับขึ้นไปถึง 3-4% เพราะ 4. ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการอภิบาลโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่บริหารโดยเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ท้องถิ่น วิชาชีพ และวิชาการ  ซึ่งเชื่อมโยงกับการบริหารภาครัฐ ได้แก่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษา และกระทรวงมหาดไทย นับเป็นรูปแบบการบริหารที่สมบูรณ์แบบ ที่เป็นคำตอบในการเดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพ ดังนั้นคงไม่ปล่อยให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงจนกลายเป็นภาระประเทศ  

และ 5.จากการประเมินผลดำเนินงานในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วง 10 ปี โดยผู้ประเมินจากภายนอก ซึ่งเป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจากต่างประเทศอังกฤษได้สรุปว่า รูปแบบระบบหลักประกันสุขภาพที่ประเทศไทยทำอยู่นี้เป็นรูปแบบที่ดีและเหมาะสมกับการเป็นแบบอย่างในการจัดทำหลักประกันสุขภาพ อีกทั้งจากการประเมินของสำนักงานสถิติยังพบว่า เป็นระบบที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับประชาชนอย่างขัดเจน ไม่ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างให้กับประเทศต่างๆ ได้เรียนรู้

“แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ แต่เราคงภูมิใจตลอดไปไม่ได้ เราต้องต่อยอดขยายผลเข้าสู่ระบบสังคมใหญ่ เพราะระบบสุขภาพข้างหน้าไม่ได้จำกัดอยู่แค่กระทรวงสาธารณสุข จำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อสู้กับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค และตัวโรคภัยไข้เจ็บให้รู้เท่าทัน ภายใต้แนวคิด รวมคิด ร่วมนำ ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ” 

ด้าน นพ.อำพล กล่าวว่า เรื่องการเงินการคลังและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอหลักการ ทิศทาง และแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย ที่เป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 ซึ่งการปฏิรูปเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่วิวาทะกันขณะนี้ สิ่งที่ต้องทำขณะนี้คือการเดินหน้าปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยหน่วยงานใหญ่ต้องลดการใช้อำนาจลงและเดินหน้าปฏิรูปในทิศทางที่ควรจะเป็น ต้องไม่ถอยหลังเข้าคลอง โดยเน้นลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้วยการกระจายอำนาจ ปรับระบบบริหารจัดการ ไม่รวมศูนย์การบริหารเหมือนในอดีต ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหามากขึ้น

ทั้งนี้ระบบสุขภาพวันนี้ไม่ควรอภิบาลโดยรัฐ แต่ควรบูรณาการทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพเข้าด้วยกัน ไม่ใช่การรวมศูนย์ ซึ่งมีคำถามว่าหากวันนี้กระทรวงสาธารณสุขยังคงถืองบประมาณเท่าเดิมเช่นเดียวกับในอดีต จะสามารถบริหารระบบสุขภาพภายใต้ระบบรัฐแบบเดิมได้หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ด้านสุขภาพต่างๆ ยุ่งยากสลับซับซ้อนเกินกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขจะจัดการได้

“ทราบว่าขณะนี้แพทย์จบใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ผ่านมา 4 เดือนแล้ว ยังไม่ได้รับการบรรจุ และยังไม่ได้รับเงินเดือน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการรวมศูนย์การบริหาร ทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะต้องรออนุมัติก่อน ดังนั้นแนวทางปฏิรูปเขตสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการ หลายฝ่ายมองว่าเป็นการรวบอำนาจไว้ที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะใช่ทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ รวมถึงความพยายามในการเป็นเจ้าภาพหลักด้านนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ โดยใช้จังหวะช่วงการบริหารของ คสช. ในการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพระดับชาติ โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแลและกำกับทั้งหมด และหน่วยงานเครือข่ายต่างๆ อยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ เท่ากับเป็นการอภิบาลโดยรัฐเต็มรูปแบบ ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงจะกลายเป็นการอภิบาลรวมศูนย์เบ็ดเสร็จโดยรัฐ” เลขาธิการ สช. กล่าว       

นพ.อำพล กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขขณะนี้ สช.ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพมีหน้าที่ประสานกับหน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับนโยบายสุขภาพ จะจัดเวทีประชุมปรึกษาหารือขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยจะเชิญผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข สปสช. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาปรึกษาหารือกันเพื่อสร้างความเข้าใจ เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนระบบสุขภาพที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคำนึงถึงประชาชนและลดความขัดแย้ง