ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ 4 สถาบัน เพิ่มศักยภาพการควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาคลินิกทั่วประเทศให้มีมาตรฐานสากล มีความถูกต้อง แม่นยำส่งผลให้แพทย์ใช้ในการรักษา ป้องกันและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นพ.อภิชัย  มงคล  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เป็นหน่วยบริการสำคัญที่ทำการทดสอบสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย  ซึ่งผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการจะถูกนำไปใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัย การรักษา การควบคุมป้องกันโรค และการดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยและประชาชน   ซึ่งห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาคลินิกเป็นสาขาหนึ่งที่ตรวจวินิจฉัยหาจุลชีพที่เกิดจากการติดเชื้อในสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วย ที่ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานอย่างสูง เนื่องจากต้องพิจารณารูปร่าง ลักษณะการติดสีย้อม การเจริญของจุลินทรีย์หรือโคโลนี คุณลักษณะทางชีวเคมี และการดื้อยาของเชื้อจุลินทรีย์แต่ละชนิด  ดังนั้นเพื่อให้ผลการทดสอบมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพภายใน (Internal quality control, IQC) และการเข้าร่วมการประเมินผลการวิเคราะห์จากองค์กรภายนอก (External quality assessment, EQA) โดยสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีส่วนสนับสนุนการควบคุมคุณภาพแก่ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยเปิดให้บริการประเมินผลการวิเคราะห์จากองค์กรภายนอก สาขาจุลชีววิทยาคลินิก มานานกว่า 20 ปี และเป็นหน่วยประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ด้านการแพทย์แห่งเดียวของประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล ISO/IEC 17043:2010 จาก National Association of Testing Authorities (NATA) ประเทศออสเตรเลีย

นพ.อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2557 นี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทดสอบด้านจุลชีววิทยาคลินิก ที่ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญของเจ้าหน้าที่ในการทดสอบเป็นหลัก และมีการควบคุมคุณภาพที่ดี จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ 4 สถาบัน ได้แก่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพการควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาคลินิก” แก่ห้องปฏิบัติการที่เป็นสมาชิกประเมินคุณภาพการตรวจวิเคราะห์สาขาจุลชีววิทยาคลินิกทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 120 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดังกล่าวได้มีการปฏิบัติและควบคุมคุณภาพการทดสอบถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับมาตรฐานสำหรับห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขและมาตรฐานสากล ISO 15189: 2012 ซึ่งจะส่งผลให้แพทย์และผู้ที่นำผลการทดสอบไปใช้ในการรักษา ป้องกันและควบคุมโรค เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป