ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อปท.ชี้สุขภาพเป็นเรื่องของประชาชน หนุนสปสช.เดินหน้า “กองทุนสุขภาพตำบล” นโยบายสุขภาพนี้เดินมาถูกทาง เน้นการมีส่วนร่วม ทั้งการร่วมคิดร่วมทำ ส่งผลชาวบ้านตื่นตัว ร่วมสร้างสุขภาพและฟื้นฟู พร้อมระบุได้ผลเกินงบประมาณที่จ่ายไป แถมเกิดนวตกรรมสุขภาพใหม่ๆ เป็นต้นแบบการกระจายอำนาจสาธารณสุขมูลฐานที่ไม่ต้องพูดถึงกระจายอำนาจ แนะควรใส่งบเพิ่ม เปิดกว้างการใช้ ค้านดึงงบกลับหน่วยบริการ ระบุนี่เป็นขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ของท้องถิ่นและประชาชน หากบอกแต่ว่าประชาชนไม่พร้อม ก็จะไม่มีวันได้เรียนรู้ ส่วนกลางต้องให้โอกาส กระจายอำนาจ อย่ายึดอำนาจ

ด้วยการทำงานด้านสุขภาพเชิกรุกในรูปแบบ “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น” หรือ “กองทุนสุขภาพตำบล” ที่ใช้กลยุทธ์การกระจายอำนาจ ดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามีส่วนร่วม ไม่เพียงแต่ร่วมจ่ายเงินสมทบ แต่ยังเปิดโอกาสร่วมคิดร่วมสร้างงานสุขภาพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ก่อให้เกิดความตื่นตัวจาก อปท. ในการเข้าร่วมจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบล จนขยายครอบคลุม 7,776 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 99.68 ครอบคลุมดูแลสุขภาพประชากร 56.66 ล้านคน

ถึงวันนี้...แม้กองทุนสุขภาพตำบลจะเดินมาร่วมเกือบ 10 ปีแล้ว แต่เป็นการดำเนินท่ามกลางเสียงวิพากย์วิจารณ์การใช้งบผิดทิศผิดทางที่ต้องโอนงบประมาณไปยังหน่วยบริการที่ได้มาตรฐานบริการสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ไม่ใช่การโอนงบลงไปยังท้องถิ่น อีกทั้งเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือทักท้วงถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในกรณีเดียวกันนี้ ซึ่งต้องการดึงงบประมาณนี้กลับเข้าสู่หน่วยบริการแทน

ในฐานะข้าราชการท้องถิ่น ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้าน และเป็นหนึ่งพื้นที่ซึ่งได้ดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบลจนเห็นผล นายประสาทพร สีกงพลี นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาดูน จ.มหาสารคาม กล่าวว่า กองทุนสุขภาพตำบาลมีประโยชน์มากสำหรับท้องถิ่น เพราะเป็นทิศทางของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมี แต่หลังจากที่ สปสช.ทำเรื่องนี้ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านสุขภาพจากข้างล่างขึ้นข้างบน เกิดการมีส่วนร่วมของ อปท.และประชาชนที่มีส่วนในการตัดสินใจการดำเนินงานด้านสุขภาพมากขึ้น ที่สำคัญคืองบประมาณลงถึงท้องถิ่น ถึงชาวบ้านจริงๆ การบริหารในรูปแบบนี้ส่วนตัวเห็นว่าดีกว่าการบริหารผ่านระบบราชการ ทั้งยังเป็นทิศทางการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขมูลฐานที่รัฐต้องมอบให้ท้องถิ่นดูแล

“แต่ก่อนเรื่องสาธารณสุขอาจเป็นเรื่องแค่กระทรวงสาธารณสุข ส่วนกลางเป็นฝ่ายกำหนด แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ทิศทางระบบสุขภาพโลกเปลี่ยนไปแล้ว เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของประชาชน ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลตนเองผ่านกลไกของรัฐบาลท้องถิ่นอย่างกองทุนสุขภาพตำบลที่การดำเนินงานด้านสุขภาพคิดโดยชาวบ้าน จากฐานปัญหาสุขภาพในพื้นที่ และนำมาสู่การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ดังนั้นแทนที่จะดึงงบประมาณกลับ แต่ควรกระจายงานด้านสุขภาพให้เกิดการมีส่วนร่วมมากกว่านี้” นายกเทศบาลอำเภอนาดูร กล่าว นอกจากนี้ที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายและการติดสินใจจากส่วนกลางมักไม่ตรงกับบริบทและความต้องการในพื้นที่

นายประสาทพร กล่าวว่า จากนโยบายกองทุนสุขภาพตำบลในช่วงที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดนวตกรรมการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพที่หลากหลาย กระจายไปตามพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากตำบลหนึ่งไปสู่อีกตำบลหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่มากเท่ากับผลการสร้างความตื่นตัวด้านสุขภาพให้กับชาวบ้าน จากการมีส่วนร่วมคิดร่วมทำเพื่อดูแลคนในพื้นที่ด้วยกัน ขณะเดียวกันหน่วยงานท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ. อบต. เทศบาล ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากชาวบ้านต่างให้การสนับสนุน ส่งผลให้งานด้านการสร้างสุขภาพและฟื้นฟูได้ผลที่น่าพอใจ

นายประสาทพร กล่าวว่า งานกองทุนสุขภาพตำบลในเทศบาลอำเภอนาดูรได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยเทศบาลทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ดึงภาคีเครือข่ายทั้ง อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ผู้นำชุมชน โรงเรียนและโรงพยาบาลร่วมกันทำงาน เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพ การกำหนดแนวทางแก้ไข การอนุมัติงบและติดตามผล เกิดการเรียนรู้ แม้ว่างบที่ได้จากกองทุนสุขภาพตำบลจะได้เพียงปีละ 1-2 แสนบาท แต่งานที่ได้นั้นต้องบอกว่าได้มากกว่าเงินที่ลงไปอย่างมากมาย

ส่วนกรณีที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือทักท้วงให้ทบทวนงบกองทุนสุขภาพตำบล โดยระบุว่าผิดวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นั้น นายประสาทพร กล่าวว่า คงต้องมองเจตนารมณ์ของการมีกองทุนสุขภาพตำบลมากกว่า หากเห็นว่ามีประโยชน์ แต่กฎหมายไม่ถูกก็ทำให้ถูกได้ ซึ่งกองทุนสุขภาพตำบลเดินมาขนาดนี้เห็นผลชัดเจนว่าชาวบ้านได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตามกรณีที่เกิดขึ้นนี้มองว่าเป็นการแย่งอำนาจบริหารระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. หลังการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้การบริหารงบแสนล้านไปอยู่ที่ สปสช. ประชาชนในฐานะผู้รับบริการมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

“งบที่ลงสู่กองทุนสุขภาพตำบลแต่ละปีมีจำนวนไม่มาก แต่การที่กระทรวงสาธารณสุขมาทำเรื่องนี้เพราะต้องการดึงฐานมวลชน อสม. กลับสู่กระทรวงเหมือนเดิม อยู่ภายใต้หน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งต้องย้ำถึงปรัชญาสาธารณสุขมูลฐาน คือการเพิ่มศักยภาพให้ชาวบ้านพึ่งตนเอง ดูแลสุขภาพตนเองได้ พึ่งพารัฐน้อยลง แต่หากยังให้ส่วนกลางเป็นผู้กำหนดอย่างที่ผ่านมา ให้ดูว่าที่ผ่านมาแต่ละปีมีการใช้เงินเพื่อซ่อมสุขภาพปีละเข้าเท่าไหร่ ซ้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี” นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาดูร กล่าว

ส่วนคำถามเป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่กระทรวงสาธารณสุขให้ดึงงบประมาณกลับ เพราะเกรงว่าบางท้องถิ่นอาจไม่ให้ความสำคัญงานด้านสุขภาพนั้น นายประสาทพร กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเป็นแบบนั้น และการจะให้ทุกท้องถิ่นเท่ากัน เหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่ได้รับเท่ากันคือโอกาสที่รัฐเปิดให้ประชาชน ให้กับท้องถิ่น เช่นเดียวกับการปกครอง จะบอกว่าประชาชนไม่พร้อมก็ไม่ต้องกระจายอำนาจคงไม่ใช่ แต่ตรงกันข้ามรัฐต้องโยนเรื่องนี้ลงมาเพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ ในฐานะเจ้าของประเทศต้องมีส่วรร่วมตัดสินใจ โดยรัฐทำหน้าที่แค่การกำกับติดตามให้ได้มาตรฐาน ต้องให้โอกาส กระจายอำนาจ อย่ายึดอำนาจ ซึ่งการดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบลก็เช่นกัน

นายประสาทพร กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางการดำเนินนโยบายกองทุนสุขภาพตำบล จากนี้ควรเพิ่มความหลากหลายการสร้างสุขภาพในทุกมิติ ซึ่งปัจจุบันยังติดข้อจำกัดอยู่หลักเกณฑ์การใช้งบประมาณ ส่งผลให้งานสร้างสุขภาพยังไม่ครอบคลุมและควรมีการเพิ่มเติมงบประมาณมากขึ้น เพราะชัดเจนว่างานที่ได้จากกองทุนสุขภาพตำบลได้มากกว่างบประมาณที่ลงไป ทั้งนี้สรุปได้ว่าว่า กองทุนสุขภาพตำบลเป็นรูปแบบการกระจายอำนาจที่ดีรูปแบบหนึ่ง ไม่ต้องพูดถึงการกระจายอำนาจ แต่โดยวัตถุประสงค์ดำเนินงานกองทุนสุขภาพตำบลได้ทำให้เกิดการกระจายอำนาจและมีส่วนร่วมของประชาชน

ขณะที่ นายคำเติม นระศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพิมูล อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสิทธ์ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนสุขภาพตำบลนับเป็นนโยบายที่ดี เพราะประโยชน๋ที่ได้ลงถึงชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เป็นนโยบายที่ดำเนินมาถูกทิศถูกทางแล้ว จึงไม่เห็นด้วยกรณีที่จะมีการเสนอทบทวนและให้ สปสช.ดึงงบประมาณกลับคืนไปยังหน่วยบริการ และหากทำเช่นนั้นจริงอาจทำให้เกิดผลกระทบตามมาก โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมจากประชาชนและท้องถิ่น ดังนั้นในทางกลับกันจึงควรมีการสนับสนุนกองทุนสุขภาพตำบลให้มากขึ้น ด้วยการใส่งบประมาณเพิ่มเติม และเปิดกว้างหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับตนเองและชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการตื่นตัวและมีส่วนร่วมมากกว่าการดำเนินงานที่มาจากหน่วยราชการ

“อยากให้กระทรวงสาธารณสุขมองถึงผลงานและนวตกรรมด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา และให้การสนับสนุนแทน ซึ่งงบกองทุนสุขภาพตำบลที่ให้กับท้องถิ่นนั้นไม่มาก เพียงแค่ 1-2 แสนบาทต่อปี ขณะที่ท้องถิ่นเองก็จ่ายสมทบเข้ากองทุน แต่งานที่ได้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งต้องบอกว่า 1-2 แสนบาท ทำได้ขนาดนี้ถือว่าคุ้มค่าแล้ว” นายคำเติม กล่าวและว่า ดังนั้นอยากให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาในเรื่องนี้ใหม่