ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จัดประชุมถอดบทเรียนการจัดระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีชุมนุมทางการเมือง ปี 2556-2557 ใช้เป็นแม่แบบจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินดูแลประชาชนอย่างรอบด้าน พร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินต่างๆในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเสียชีวิตผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ปลอดภัย โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงกลาโหม จะพัฒนาหลักสูตรการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บขณะยังมีเหตุปะทะ

วันที่ 22 ก.ค. 57 ที่โรงแรมเอเชีย กทม. นพ.ณรงค์  สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ดูแลผู้ชุมนุมทางการเมืองในกทม.และต่างจังหวัด ช่วงเดือนตุลาคม 2556 - พฤษภาคม 2557 ได้แก่ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย ทีมแพทย์อาสา ภาคประชาชน มูลนิธิต่างๆ อาทิร่วมกตัญญู ป่อเต๊กตึ๊ง กู้ชีพร่มไทร มาร่วมถอดบทเรียนการปฏิบัติงานเพื่อใช้เป็นแม่แบบการดำเนินงานจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ให้สมบูรณ์แบบใน 5 เรื่อง ได้แก่

1.ระบบการประสานสั่งการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสำนักการแพทย์ กทม. เป็นผู้ประสานสั่งการในพื้นที่กทม.

2.การทำงานของทีมปฏิบัติการ ทั้งทีมกู้ชีพฉุกเฉินชั้นสูงและพื้นฐาน

3.การดูแลผู้ชุมนุม

4.การบริหารจัดการและการสนับสนุนต่างๆ

5.ระบบการรวบรวมข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตให้เป็นข้อมูลเดียวกัน

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะนำบทเรียนนี้ไปขยายผลในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ทั้งการเมืองและอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ให้มีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียให้มากที่สุด

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิชช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินในการดูแลผู้ชุมนุมทางการเมืองตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ในเบื้องต้นนับว่าประสบผลสำเร็จ ทั้งในกทม.และต่างจังหวัดมีผู้บาดเจ็บรวม 834 ราย เสียชีวิต 28 ราย โดยจากการประชุมถอดบทเรียนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ พบว่ายังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น เรื่องการประสานสั่งการจะต้องมีระบบเดียวใช้ครอบคลุมการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ลดความซ้ำซ้อน ลดช่องว่าง การสร้างความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะกรณีที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในระหว่างที่มีการปะทะ และมีระบบการจัดการสุขาภิบาลเรื่องน้ำ อาหาร ขยะ และส้วม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ชุมนุม

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับระบบการดูแลฟื้นฟูสุขภาพจิตผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อม เช่นผู้บาดเจ็บ และครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมทั้งอาสาสมัครต่างๆ ให้เริ่มตั้งแต่เกิดเหตุ จัดระบบสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการเจ็บป่วยของผู้ชุมนุม จัดเครื่องป้องกันอันตรายที่จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บแก่บุคลากรกู้ชีพทั้งหมดในสถานการณ์ที่มีการปะทะ ร่วมกับกระทรวงกลาโหม เพื่อให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ดียิ่งขึ้น และควรจัดเตรียมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นกองหนุนเพื่อดูแลผู้บาดเจ็บรุนแรง สามารถเดินทางไปดูแลผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาลอื่นๆได้ สำหรับในเรื่องข้อมูลที่ประชุมเน้นให้รายงานจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างถูกต้อง เพื่อใช้ในการวางแผนตัดสินใจของผู้บริหารในการสั่งการได้อย่างทันท่วงที และลดความสับสนแก่ประชาชน ทั้งหมดนี้จะจัดทำเป็นเอกสารแนวทางปฏิบัติแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป