ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 การประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ มีมติเห็นชอบให้เตรียมข้อเสนอต่อ ครม. ให้เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในการเจรจาการค้าและทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ  ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอจากการประชุมวิชาการ การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ปี 2556-2557 ตามที่คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (คจคส.) เสนอ

ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา 

ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา กรรมการสุขภาพแห่งชาติจากผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มธุรกิจ ประธาน คจคส.กล่าวว่า การเจรจาการค้าเสรีภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ ยารักษาโรค การเข้าถึงยา การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และบริการทางสุขภาพ 

“ต้องชื่นชมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เห็นถึงความสำคัญของผลกระทบจากการเจรจาการค้าเสรี โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นับเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรกที่มีบทบัญญัติในมาตรา 23 ระบุว่า การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวางต้องได้รับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้อเสนอแนะจากการประชุมวิชาการฯนี้จึงสามารถช่วยหนุนเสริมการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญฯนี้ให้เป็นรูปธรรมได้”

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า คณะกรรมการฯ เสนอให้กำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน ทั้งก่อน ระหว่างและหลังกระบวนการการเจรจาฯ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลและจัดกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน รวมถึงเสนอกรอบการเจรจาต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อขอความเห็นชอบก่อน เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินงาน และลดผลกระทบที่จะเกิดในอนาคต  ข้อเสนอเหล่านี้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารประเทศในโอกาสอันใกล้นี้ต่อไป

สำหรับ ข้อเสนอแนะจากการประชุมวิชาการ การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ปี 2556-2557ต่อกระบวนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ประกอบด้วย 4 ด้าน ดังนี้

1.การค้าระหว่างประเทศ ควรใช้การเจรจาการค้าเสรี (Free Trade agreement : FTA) เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นโอกาสในการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อความยั่งยืนของประเทศ แต่ต้องรับฟังความห่วงกังวลต่างๆ และร่วมกันพิจารณาผลกระทบด้านสุขภาพและสังคม มีดุลยภาพระหว่างผู้ได้รับประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ 

2.ประเด็นอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพ ควรพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางตรง ทางอ้อม และผลกระทบในทางสุขภาพอย่างชัดเจน ในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP) เนื่องจากเป็นกรอบการค้าที่มีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศพัฒนาแล้ว

3.ระบบยา การเข้าถึงยา การคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาและประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องในการเจรจาการค้าเสรี ควรเร่งส่งเสริมนักวิจัยไทยและอุตสาหกรรมยาที่มีศักยภาพสูง พัฒนาต่อยอดในการค้นคว้าวิจัยและผลิตยาที่มีคุณภาพ รับมือกับข้อเรียกร้องของต่างชาติ ที่เรียกร้องขยายอายุสิทธิบัตรยาและขอผูกขาดตลาดยามากขึ้น

4.ระบบบริการสุขภาพ ศึกษาถึงต้นทุน ความพร้อม และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากนโยบายศูนย์กลางสุขภาพ (Medical Hub) พร้อมวางแผนกำลังคนทางการแพทย์ เพื่อรับมือการเข้าสู่สังคมประชากรผู้สูงอายุ (Ageing population)

สำหรับข้อเสนอในระยะยาวนั้น ต้องมีแนวทางรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเจรจา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเตรียมการรองรับทั้งด้านข้อมูลที่ต้องเป็นปัจจุบันเพื่อการวิเคราะห์ผลดี ผลเสียจากการเจรจาการค้าอย่างรอบด้าน และที่สำคัญยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเจรจาการค้าด้วย